วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

มวยสากลหญิง

กติกามวยสากลสมัครเล่น สำหรับการแข่งขันนานาชาติ

กติกาข้อ 1 " สังเวียน " ( THE RING )
ก. ข้อกำหนด (Requirements) ในการแข่งขันทั่วไป สังเวียนต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังนี้
1.ขนาด (Size) สังเวียนเล็กต้องมีขนาด 4.90 x 4.90 ม. ( 16 ฟุต x 16 ฟุต ) และสังเวียนขนาดใหญ่ต้องมีขนาด 6.10 x 6.10 ม. ( 20 ฟุต x 20 ฟุต ) ซึ่งวัดภายในของเชือกการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศระหว่างประเทศต้องใช้สังเวียนขนาด 6.10 x 6.10 ม. พื้นสังเวียนต้องสูงจากพื้นดินหรือฐานไม่น้อยกว่า 91 ซ.ม. ( 3 ฟุต ) หรือมากกว่า 1.22 ม. ( 4 ฟุต )
2.พื้นที่และมุมสังเวียน (Platform and Corner Pads) พื้นที่สังเวียนต้องสร้าง ให้ปลอดภัยได้ระดับปราศจากสิ่งกีดขวาง และต้องยื่นออกนอกเชือกอย่างน้อย 46 ซ.ม. ( 18 นิ้ว ) ต้องตั้งเสาที่มุมทั้งสี่พร้อมหุ้มนวมให้เรียบร้อย หรือจะทำอย่างใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่นักมวย มุมสังเวียนต้องจัดให้เป็นลักษณะ ดังนี้ มุมสังเวียนด้านซ้ายที่อยู่ใกล้ประธานคณะลูกขุนเป็นสีแดง มุมด้านซ้ายมือที่อยู่ไกลเป็นสีขาว มุมด้านขวามือที่อยู่ไกลเป็นสีน้ำเงิน และมุมด้านขวามือที่อยู่ใกล้เป็นสีขาว
3.การปูพื้นสังเวียน (Floor Covering) พื้นสังเวียนต้องปูด้วยสักหลาด ยางหรือวัสดุอื่น ๆ ที่เหมาะสม มีลักษณะยืดหยุ่นได้ มีความหนาไม้น้อยกว่า 1.30 ซ.ม. ( 1/2 นิ้ว ) และไม่หนากว่า 1.90 ซ.ม. ( 3/4 นิ้ว ) ปูทับด้วยผ้าใบให้ตึงและมิดชิดคลุมพื้นสังเวียนทั้งหมด
4.เชือก (Ropes) ต้องมีเชือก 3 หรือ 4 เส้น มีความหนาอย่างน้อย 3 ซ.ม. ( 1.18 นิ้ว ) อย่างมาก 5 ซ.ม.( 1.97 นิ้ว ) ขึงตึงกับเสามุมสังเวียนทั้งสี่เสา สูงจากพื้นสังเวียน 40 ซ.ม. (1 ฟุต 3.7 นิ้ว) 80 ซ.ม. ( 2 ฟุต 7 นิ้ว ) และ 1.30 ม. ( 4 ฟุต 3 นิ้ว ) ตามลำดับ กรณีเชือก 4 เส้น กำหนดความสูงของเชือก ตามลำดับ ดังนี้ 40 ซ.ม. ( 16 นิ้ว ) 71.1 ซ.ม. ( 28นิ้ว ) 101 .6 ซ.ม. ( 40 นิ้ว ) และ 132.1 ซ.ม. ( 52 นิ้ว ) เชือกต้องหุ้มด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่ม หรือเรียบเชือกแต่ละด้านของสังเวียนต้องผูกยึดด้วยผ้าเหนียว 2 ชิ้น ซึ่งมีขนาดกว้าง 3 - 4 ซ.ม. ( 1.2 - 1.6 นิ้ว ) ให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน และผ้าที่ผูกนั้นต้องไม่เลื่อนไปตามเชือก
5.บันได ( Steps ) สังเวียนต้องมีบันได 3 บันได สองบันไดต้องอยู่ที่มุมตรงกันข้ามสำหรับผู้แข่งขันและพี่เลี้ยง ส่วนอีกบันไดหนึ่งให้อยู่ที่มุมกลางสำหรับผู้ชี้ขาดและแพทย์
6.กล่องพลาสติก (Plastic Bag) ที่มุมกลางทั้งสองมุมนอกสังเวียนให้ติดกล่องพลาสติกมุมละ 1 กล่อง เพื่อให้ผู้ชี้ขาดทิ้งสำลี หรือกระดาษบาง ๆ ที่ใช้ซับเลือดแล้ว
ข. สังเวียนเพิ่มเติม (Additional Rings) อาจใช้สังเวียน 2 สังเวียนในการแข่งขันเพื่อความ ชนะเลิศครั้งสำคัญ ๆ ได้
กติกาข้อ 2 " นวม " ( GLOVES )
ก. นวมที่ใช้แข่งขัน ( Authorized Gloves ) ผู้แข่งขันต้องสวมนวมสีแดงและสีน้ำเงิน ให้ตรงกับมุมของผู้แข่งขัน โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้จัดไว้ให้และนวมนั้น ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริหารของ A.I.B.A แล้ว ไม่อนุญาตให้ผู้แข่งขันใช้นวมของตนเอง
ข. รายละเอียดของนวม ( Specifications ) นวมต้องมีน้ำหนัก 10 ออนซ์ ( 284 กรัม ) ส่วนที่เป็นหนังต้องหนักไม่เกินครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งหมดและไส้นวมต้องไม่ถูกทำให้เคลื่อนไป จากความเป็นจริงหรือแตกจากกัน สำหรับการแข่งขันนานาชาติใด ๆ ที่ A.I.B.A ให้การรับรอง นักมวยต้องสวมนวมชนิด Velcro เท่านั้น ให้ใช้นวมที่สะอาด และใช้การได้เท่านั้น
ค. กรรมวิธีควบคุมนวมของ A.I.B.A ( Procedure for control of A.I.B.A Gloves ) A.I.B.A จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดของนวมให้แก่โรงงานที่ผลิตนวมเพื่อใช้สำหรับแข่งขัน ภายใต้การควบคุมของ A.I.B.A ผู้ผลิตนวมรายใดที่ประสงค์จะได้รับการรับรองนวม 10 ออนซ์ จาก A.I.B.A จะต้องส่งตัวอย่างนวมให้คณะกรรมาธิการสวัสดิภาพและอุปกรณ์ของ A.I.B.A ทำการตรวจสอบเสียก่อน แล้วจึงให้คณะกรรมการบริหารของ A.I.B.A ให้การรับรองขั้นสุดท้าย จากนั้นผู้ผลิตนวมจะได้รับตรารับรองอย่างเป็นทางการจาก A.I.B.A เพื่อนำไปติดที่นวมแต่ละข้างซึ่งผลิตขึ้นสำหรับใช้แข่งขันมวยสากลสมัครเล่นต่อไปผู้ผลิตนวมที่ประสงค์จะให้ A.I.B.A รับรองนวมจะต้องทำสัญญากับสำนักงาน A.I.B.A เพื่อประกันว่านวมที่ผลิตนั้นเป็นชนิดที่ได้ผ่านการรับรองและถูกต้องตามรายละเอียดทุกประการ คณะกรรมการบริหารของ A.I.B.A จะกำหนดจำนวนเงินที่ผู้ผลิตนวมต้องวางเงินค้ำประกันสัญญา และค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายสำหรับนวมแต่ละคู่และขั้นตอนการจ่ายเงินในกรณีที่เสียค่าปรับ ขั้นตอนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังผู้ผลิตนวมทุกรายองค์กรทุกองค์กรของ A.I.B.A ต้องรับผิดชอบ และรับรองนวมที่จะใช้แข่งขันทุกรายการแข่งขันที่จัดขึ้น A.I.B.A ให้การรับรองสำหรับการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของ A.I.B.A สหพันธ์มวยแห่งทวีปให้การรับรองสำหรับการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศแห่งทวีป สมาคมมวยแห่งประเทศให้การรับรองสำหรับการแข่งขันทุกรายการที่อยู่ภายใต้ การควบคุมของสมาคมแห่งประเทศนั้น ๆ โดยปกติแล้วผู้จัดการแข่งขันอาจใช้นวมใดก็ได้ที่ A.I.B.A ให้การรับรองแล้ว เว้นแต่ว่าองค์กรของ A.I.B.A ที่รับผิดชอบได้เจาะจงให้ใช้นวม จากผู้ผลิตรายใดไว้โดยเฉพาะ การแข่งขันรายการใดรายการหนึ่งผู้แข่งขันทุกคนต้องสวมนวมชนิดเดียวกัน
ง. การตรวจตราการสวมนวมของ A.I.B.A ( A.I.B.A Gloving Supervision ) ทั้งนวมและผ้าพันมือจะต้องเหมาะสมอยู่ภายใต้การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ด้านนี้โดยตรง จำนวน 2 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดูแลการปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกติกา เจ้าหน้าที่นี้จะคอยดูแลเพื่อให้แน่ใจว่านักมวยปฏิบัติถูกต้องตามกติกาทุกอย่าง จนกระทั่งนักมวยขึ้นสู่เวที
กติกาข้อ 3 " ผ้าพันมือ " ( BANDAGES )
ก. รายละเอียดของผ้าพันมือ ( Specifications ) ให้ใช้ผ้าพันมือชนิด VELPEAU ยาวข้างละไม่เกิน 2.50 ม. ผ้าพันมือชนิดอื่นใช้ไม่ได้ ห้ามใช้แถบกาว ยาง หรือปลาสเตอร์ ทุกชนิด เป็นผ้าพันมือ เด็ดขาด แต่อาจใช้สายยืดเส้นเดียว ยาว 7.6 ซ.ม. ( 3 นิ้ว ) และกว้าง 2.50 ซ.ม. ( 1 นิ้ว ) เพื่อยึดผ้าพันมือที่เหนือขึ้นมาก็ได้
ข. การแข่งขันระดับทวีป และโอลิมปิก ( Continental , World and Olympic Tournaments ) ประเทศเจ้าภาพต้องจัดหาผ้าพันมือไว้ใช้สำหรับการแข่งขันระดับทวีป โลก และโอลิมปิก ผู้แข่งขันแต่ละคู่จะต้องใช้ผ้าพันมือใหม่ที่เจ้าหน้าที่จัดให้ที่ห้องแต่งกายก่อนการแข่งขันทุกครั้ง
กติกาข้อ 4 " เครื่องแต่งกาย " ( DRESS )
ก. เครื่องแต่งกายสำหรับแข่งขัน ( Authorized Dress) ผู้แข่งขันต้องแต่งกายดังนี้
1. การแต่งกาย ( Clothing ) ผู้แข่งขันจะต้องสวมรองเท้าชนิดเบาหรือหุ้มส้น ( ไม่มีตะปูและส้นเท้า ) ถุงเท้า กางเกงขาสั้นความยาวไม่เกินเข่า และเสื้อไม่มีแขนปิดอกและหลัง สำหรับการแข่งขันนานาชาติ โอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันชิงถ้วยโลก การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศโลก การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศโลก(สำหรับนักมวยอายุต่ำกว่า 19 ปี) การแข่งขันในเครือจักรภพ หรือการแข่งขันใด ๆ ที่ A.I.B.A ให้การรับรอง นักมวยต้องสวมเสื้อยืดที่จัดหามาเอง สีแดงหรือสีน้ำเงิน ตามมุมของตน เสื้อยืดดังกล่าวจะมีชื่อประเทศของนักมวย และตราตามขนาดและรายละเอียดที่ A.I.B.A อนุญาตให้ติดได้ คือ ไม่ใหญ่กว่า 100 ตารางเซนติเมตร ถ้ากางเกงและเสื้อเป็นสีเดียวกัน แนวเข็มขัดต้องมีสายรัดเอวชนิดยืดได้กว้าง 10 เซนติเมตร เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ( แนวเข็มขัดประมาณจากสะดือถึงเหนือสะโพก
2. สนับฟัน ( Gumshields ) ผู้แข่งขันต้องใส่สนับฟัน สนับฟันต้องเป็นชนิดที่กระชับกับฟัน ประเทศเจ้าภาพต้องจัดหาสนับฟันชนิดนี้ไว้สำหรับนักมวยที่ไม่มีสนับฟันเป็นของตนเอง โดยคิดค่าใช้จ่ายจากนักมวยหรือสมาคมของนักมวยคนนั้นสังกัด ห้ามนักมวยจงใจบ้วนสนับฟันระหว่างแข่งขัน หากนักมวยกระทำเช่นนั้น จะถูกตัดคะแนนหรือให้ออกจากการแข่งขัน ถ้าสนับฟันหลุดออกจากปากของนักมวยผู้ชี้ขาดจะต้องนำนักมวยไปยังมุมของเขา ให้ล่างสนับฟันแล้วให้นักมวยใส่ใหม่ ในระหว่างนั้นห้ามพี่เลี้ยงพูดกับนักมวยของเขา ถ้าสนับฟันร่วงออกจากปากสามครั้งไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม นักมวยจะถูกตำหนิโทษและถ้ายังเกิดกรณีเช่นนี้อีก นักมวยจะถูกตำหนิโทษเป็นครั้งที่สอง
3. กระจับ ( Cup Protectors ) ผู้แข่งขันต้องสวมกระจับ และอาจสวมกระจับหนังทับอีกก็ได้
4. เครื่องป้องกันศีรษะ ( Headguards ) เครื่องป้องกันศีรษะเป็นอุปกรณ์ส่วนตัวของนักมวยซึ่งมีความกระชับกับศีรษะของนักมวย อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันนานาชาติ โอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันชิงถ้วยโลก การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศโลก การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศโลก(สำหรับนักมวยอายุต่ำกว่า 19 ปี) การแข่งขันในเครือจักรภพ หรือการแข่งขันใด ๆ ที่ A.I.B.A ให้การรับรอง นักมวยต้องสวมเครื่องป้องกันศีรษะสีแดง และน้ำเงินตามมุมของเขา ผู้แข่งขันต้องสวมเครื่องป้องกันศีรษะชนิดที่เป็นไปตามรูปแบบรายละเอียดที่ A.I.B.A กำหนด กรรมการบริหาร A.I.B.A ให้การรับรองเครื่องป้องกันศีรษะชนิดต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมาธิการสวัสดิภาพและอุปกรณ์ให้คำสนับสนุน เงื่อนไขการทำสัญญาการค้ำประกันและการวางเงินประกันให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในกติกาข้อ 2 (ค) ย่อหน้า 2 นักมวยต้องเข้ามาในสังเวียนในสภาพที่สวมเครื่องป้องกันศีรษะแล้ว นักมวยต้องถอดเครื่องป้องกันศีรษะออกทันทีที่การแข่งขันสิ้นสุด และก่อนที่จะมีการประกาศผลการแข่งขัน
ข. ข้อที่ห้ามใช้ ( Prohibited Objects ) ห้ามสวมสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเข้าแข่งขัน ห้ามใช้น้ำมันกรีส , วาสลิน , เครื่องทาหน้า หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เป็นอันตรายหรือน่ารังเกียจแก่คู่แข่งขันทาหน้า แขน หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นักมวยต้องโกนหนวดเคราให้สะอาดเรียบร้อยในขณะเข้าตรวจร่างกายก่อนการชั่งน้ำหนัก ไม่อนุญาตให้ไว้เครา แต่ไว้หนวดได้บาง ๆ มีความยาวไม่เกินริมฝีปากบน
ค. การละเมิดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ( Dress Infractions ) ผู้ชี้ขาดจะไม่ให้นักมวยที่ไม่ใส่เครื่องป้องกันศีรษะ กระจับและสนับฟัน หรือแต่งกายไม่สะอาดถูกต้องออกจากการแข่งขัน ในกรณีที่นวมหรือเครื่องแต่งกายของนักมวยไม่เรียบร้อยในขณะแข่งขัน ผู้ชี้ขาดจะหยุดการแข่งขันเพื่อให้เรียบร้อย
ง. เครื่องแต่งกายของทีม ( Uniforms ) สหพันธ์มวยแห่งทวีป และองค์กรของภาคที่ส่งทีมผสมเข้าร่วมการแข่งขันนานาชาติ อาจจัดหาเครื่องแต่งกายสำหรับทีมที่ไม่ขัดต่อกติกาของ A.I.B.A ได้ สหพันธ์มวยแห่งทวีป และองค์กรของภาคไม่มีอำนาจบังคับให้ทีมของประเทศต่าง ๆ สวมเครื่องแต่งกายส่วนตัว ซึ่งอาจจะขัดต่อข้อตกลงของทีมประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ตามผู้แข่งขันเดี่ยวจากประเทศต่าง ๆ ที่มารวมกันเป็นทีมของภาคอาจถูกกำหนดให้สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ภาคนั้น ๆ จัดหาให้
กติกาข้อ 5 " อุปกรณ์สังเวียน " ( RING EQUIPMENT )
ก. ข้อกำหนด ( Required ) จะต้องจัดให้มีอุปกรณ์สังเวียน ดังนี้
1. ถาดตื้น ๆ บรรจุยางสน 2 ถาด
2. ที่นั่ง 2 ที่ ชนิดที่เหวี่ยงไปมาได้
3. เหยือกน้ำพลาสติก 2 เหยือก สำหรับใช้ดื่ม และล้างปากเท่านั้น และหากไม่สามารถต่อท่อส่งน้ำมาที่สังเวียนให้จัดขวดน้ำพลาสติกพ่นฝอย 2 ขวด และขวดน้ำพลาสติกขนาดเล็ก 2 ขวด สำหรับดื่มไม่อนุญาตให้นักมวยหรือพี่เลี่ยงใช้ขวดน้ำชนิดอื่นในสังเวียน ถาดขี่เลื่อย 2 ถาด และถังน้ำ 2 ถัง
4. โต๊ะ และเก้าอี้สำหรับเจ้าหน้าที่
5. ฆ้อง ( พร้อมไม้ตี ) หรือระฆัง
6. นาฬิกาจับเวลาชนิดกดหยุดได้ 1 เรือน ( ควรให้มี 2 เรือน )
7. ใบบันทึกคะแนนตามแบบของ A.I.B.A
8. เครื่องปฐมพยาบาล 1 ชุด
9. ไมโครโฟน 1 ตัว ซึ่งต่อเข้ากับเครื่องขยายเสียง
10. นวม 2 คู่ ที่ทำจากโรงงานเดียวกัน และมีลักษณะตามที่ระบุในกติกาข้อ 2
11. เปลหามคนเจ็บ 1 ชุด
12. เครื่องป้องกันศีรษะ 2 อัน ( อันหนึ่งสำหรับมุมแดง และอีกอันหนึ่งสำหรับมุมน้ำเงิน )
กติกาข้อ 6 " การตรวจร่างกาย และชั่งน้ำหนัก สำหรับการแข่งขันนานาชาติ "( MEDICAL EXAMINATION AND WEIGH-IN FOR INTERNATIONAL COMPETITIONS )
ก. การตรวจร่างกาย ( Medical Examination )
1. ในเวลาของการชั่งน้ำหนักที่กำหนดไว้ผู้แข่งขันจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารสหพันธ์มวย ฯ ว่าเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์เสียก่อนที่จะทำการชั่งน้ำหนัก คณะกรรมการบริหารสหพันธ์มวย ฯ อาจกำหนดให้ทำการตรวจร่างกายก่อนเวลาชั่งน้ำหนักที่กำหนดไว้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้การชั่งน้ำหนักเป็นไปด้วยความราบรื่น
2. ในการตรวจร่างกายและชั่งน้ำหนักนี้นักมวยต้องนำสมุดประวัติการแข่งขันนานาชาติของเขาที่ลงนามโดยเลขาธิการหรือนายกสมาคม ฯ แห่งประเทศของเขามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อกรอกรายการต่าง ๆ ที่จำเป็น ถ้านักมวยไม่นำสมุดประวัติของเขามาแสดงในขณะตรวจร่างกายและชั่งน้ำหนักเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการแข่งขัน
3. เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการแข่งขัน นักมวยหญิงต้องแสดงสมุดประวัติการแข่งขันนานาชาติและจะต้องให้ข้อมูล ตอบคำถามของแพทย์ทุกข้อให้ดีที่สุด รวมทั้งยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อีกด้วยการแข่งขันที่มีทั้งนักมวยชาย และนักมวยหญิง ผู้จัดต้องแยกห้องตรวจร่างกาย และชั่งน้ำหนักของนักมวยชายและนักมวยหญิงออกจากกัน
แพทย์ที่ตรวจร่างกายนักมวยหญิงจะต้องทำการตรวจร่างกายให้เป็นไปตามข้อกำหนดเฉพาะที่ระบุไว้ในคู่มือของ A.I.B.A
ข. การจำแนกรุ่น ( Weight Classification )
1. รุ่นพินเวท ชาย - - กก. หญิง - 46 กก.
2. รุ่นไลท์ฟลายเวท ชาย - 48 กก. หญิง 46 - 48 กก.
3. รุ่นฟลายเวท ชาย 48 - 51 กก. หญิง 48 - 50 กก.
4. รุ่นไลท์แบนตั้มเวท ชาย - - หญิง 50 - 52 กก.
5. รุ่นแบนตั้มเวท ชาย 51 - 54 กก. หญิง 52 -54 กก.
6. รุ่นเฟเธอร์เวท ชาย 54 - 57 กก. หญิง 54 - 57 กก.
7. รุ่นไลท์เวท ชาย 57 - 60 กก. หญิง 57 - 60 กก.
8. รุ่นไลท์เวลเตอร์เวท ชาย 60 - 64 กก. หญิง 60 - 63 กก.
9. รุ่นเวลเตอร์เวท ชาย 64 - 69 กก. หญิง 63 - 66 กก.
10. รุ่นไลท์มิดเดิลเวท ชาย - - หญิง 66 -70 กก.
11. รุ่นมิดเดิลเวท ชาย 69 - 75 กก. หญิง 70 -75 กก.
12. รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท ชาย 75 - 81 กก. หญิง 75 - 80 กก.
13. รุ่นเฮฟวี่เวท ชาย 81 - 91 กก. หญิง 80 - 86 กก.
14. รุ่นซูเปอร์ไลท์เฮฟวี่เวท ชาย 91+ กก. - - -
ชายรวม 11 รุ่น หญิงรวม 13 รุ่น
หมายเหตุ การชั่งน้ำหนักตัวในมวยสากลสมัครเล่นใช้ชั่งใน " ระบบเมตริก " เท่านั้น
ค. การชั่งน้ำหนัก ( Weigh - In )
1. การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก โอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีป การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศนานาชาติ การชั่งน้ำหนักให้เป็นไปตามระเบียบ ดังนี้
ก. ผู้แข่งขันทุกรุ่นต้องพร้อมที่จะชั่งน้ำหนักในตอนเช้าวันแรกของการแข่งขันในเวลาที่กำหนดระหว่างเวลา 08.00 น. - 10.00 น. สำหรับวันแข่งขันต่อไปเฉพาะนักมวยที่ทำการแข่งขันจะต้องมาทำการชั่งน้ำหนักในเวลาระหว่าง 08.00 น. - 09.00 น. คณะกรรมการบริหาร ฯ หรือผู้แทนของ A.I.B.A มีอำนาจที่จะขยายเวลาออกไปได้ถ้ามีเหตุสุดวิสัยทำให้ล่าช้า การแข่งขันจะต้องไม่เริ่มก่อน 3 ชั่วโมง ภายหลังจากสิ้นสุดเวลาการชั่งน้ำหนัก คณะกรรมการบริการ ฯ จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการแพทย์เสียก่อนว่าการแข่งขันครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่นักมวยที่แข่งขันในคู่ต้น ๆ
ข. เจ้าหน้าที่ที่ชั่งน้ำหนักต้องเป็นบุคคลที่ A.I.B.A แต่งตั้งขึ้นจากผู้แทนประเทศต่าง ๆ ผู้แทนของสมาคม ฯ 1 คน ที่ส่งนักมวยเข้าแข่งขันอาจเข้าดูการชั่งน้ำหนักได้ แต่จะเข้าไปรบกวนอย่างใดไม่ได้
ค. น้ำหนักที่ชั่งได้เป็นทางการในวันแรก ถือเป็นน้ำหนักของนักมวยตลอดการแข่งขัน แต่เขาจะต้องมาทำการชั่งน้ำหนักทุกวันที่เขามีการแข่งขัน เพื่อเป็นการยืนยันว่าน้ำหนักที่แท้จริงของเขาไม่เกินพิกัดในรุ่นของเขา ผู้แข่งขันต้องแข่งขันในรุ่นที่เขาได้ชั่งน้ำหนักเป็นทางการไว้เท่านั้น
ง. ในวันชั่งน้ำหนักแต่ละวัน อนุญาตให้ผู้แข่งขันชั่งน้ำหนักบนเครื่องชั่งที่เป็นทางการได้เพียงครั้งเดียว น้ำหนักที่ชั่งได้บนเครื่องชั่งนั้นถือเป็นเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้ผู้แทนของชาติที่ผู้แข่งขันของเขาชั่งน้ำหนักเข้ารุ่นไม่ได้ในครั้งแรก บรรจุเข้ารุ่นที่สูงขึ้นหรือต่ำลงตามน้ำหนักของเขาได้ ถ้าในรุ่นนั้นไม่มีผู้แข่งขันจากชาติของเขาและเวลาของการชั่งน้ำหนักยังไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ยังอนุญาตให้แต่ละชาติทำการเปลี่ยนตัวนักมวยสำรองได้ด้วย ถ้ายังไม่สิ้นสุดเวลาของการตรวจร่างกายและการชั่งน้ำหนักเป็นทางการในวันแรก ในการแข่งขันที่อนุญาตให้มีนักมวยสำรองได้นั้นจะต้องระบุไว้ว่านักมวยสำรองคนใดเป็นตัวสำรองสำหรับรุ่นใด
จ. น้ำหนักที่ปรากฏบนเครื่องชั่งต้องเป็นน้ำหนักที่ชั่งด้วยตัวเปล่า น้ำหนักที่ชั่งต้องเป็นมาตราเมตริก อาจใช้เครื่องชั่งไฟฟ้าก็ได้
2. การแข่งขันระหว่างประเทศ ( Inter - Nation Contests )
ก. ในกรณีที่มีการแข่งขันระหว่างสองประเทศ หรือมากกว่า เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักจะต้องเป็นผู้ที่สมาคมของประเทศที่จัดการแข่งขันแต่งตั้งและต้องมีผู้แทนของประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันหรือเชิญผู้แทนจากประเทศต่าง ๆเป็นผู้ช่วยผู้แทนประเทศดังกล่าวมีสิทธิ์ตรวจสอบน้ำหนักของนักมวยแต่ละคนได้
ข. กรณีผู้แข่งขันน้ำหนักเกินรุ่น ถ้าน้ำหนักเกินรุ่นไม่เกิน 1 ปอนด์อังกฤษ ( 454 กรัม ) อนุญาตให้ทำการชกได้ แต่ผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไรก็ตาม นักมวยที่น้ำหนักเกินรุ่นนั้นจะได้รับคะแนนของผู้แพ้สำหรับทีมของเขาและให้คู่แข่งขัน ( ที่ผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ และชั่งน้ำหนักในวันนั้นแล้ว และปรากฏตัวบนสังเวียนในชุดแข่งขัน ) ได้รับคะแนนของผู้ชนะ ถ้านักมวยทั้งสองคนนั้นน้ำหนักเกินรุ่นให้ทั้งสองฝ่ายได้รับคะแนนของผู้แพ้ทีมของเขา ถ้าน้ำหนักของนักมวยเกินรุ่นไปมากกว่า 1 ปอนด์อังกฤษ ( 454 กรัม ) แต่ไม่เกิน 6 ปอนด์อังกฤษ ( 2.7 กิโลกรัม ) ผู้แทนของทีมคู่แข่งขันมีสิทธิ์ที่จะรับเข้าแข่งขันได้และต้องถือว่าทีมของนักมวยที่ชั่งน้ำหนักได้เป็นฝ่ายชนะ ผู้แข่งขันจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ที่ได้รับแต่งตั้งว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์เสียก่อนที่จะทำการชั่งน้ำหนัก
ค. ในการแข่งขันระหว่างประเทศหรือนานาชาติ การชั่งน้ำหนักของผู้แข่งขันอาจใช้เวลา 30 นาทีก็ได้ นักมวยที่มีน้ำหนักเกินพิกัด หรือไม่ปรากฏตัวภายในเวลาที่กำหนดจะถูกตัดสินให้เป็นผู้แพ้
ง. สมาคมของประเทศที่รับทีมเข้าแข่งขันจะต้องจัดเครื่องชั่ง และสถานที่ฝึกซ้อมให้ตามความประสงค์ของทีมตั้งแต่ทีมนั้นเดินทางมาถึงเมืองที่แข่งขัน
กติกาข้อ 7 " การจับสลาก และการบาย " ( DRAWS AND BYES )
ก. การจับสลาก ( The Draws ) การจับสลากต้องทำภายหลังการตรวจร่างกายและชั่งน้ำหนัก การจับสลากต้องกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้แทนทีมที่เกี่ยวข้องและต้องมั่นใจว่าไม่มีนักมวยคนใดชกสองครั้งโดยที่นักมวยคนอื่นยังไม่ได้ชกเลยสักครั้งเดียว ในกรณีพิเศษคณะกรรมการบริหารของ A.I.B.A มีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติให้ต่างไปจากกติกานี้ได้ การจับสลากจะต้องจับให้แก่นักมวยที่ชกในรอบแรกก่อนแล้วจึงจับให้นักมวยที่ได้บาย อย่างไรก็ตามนักมวยที่ไม่ได้ทำการชกเลยจะไม่ได้รับเหรียญรางวัลในการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก หรือ ทวีป หรือ โอลิมปิกเกมส์
ข. การบาย ( Byes ) ในการแข่งขันที่มีผู้เข้าแข่งขันมากกว่า 4 คน จะต้องจัดให้มีบายในรอบแรก เพื่อลดจำนวนผู้แข่งขันในรอบสองให้เป็น 4 , 8 , 16 หรือ 32 ผู้แข่งขันที่ได้บายในรอบแรกจะต้องชกก่อนในรอบสอง ถ้าจำนวนที่ได้บายในรอบแรกเป็นเลขคี่ นักมวยที่ได้บายคนสุดท้ายจะต้องแข่งขันในรอบสองกับผู้ชนะคู่แรกในรอบแรก ถ้าจำนวนที่ได้บายเป็นเลขคู่ นักมวยที่ได้บายจะต้องแข่งขันก่อนในรอบสองตามลำดับที่ตนจับสลากได้ ไม่มีการให้เหรียญรางวัลแก่นักมวยที่ไม่ได้ทำการชกแม้แต่ครั้งเดียว
ค. การจัดลำดับโปรแกรมการแข่งขัน ( Order of the Program ) ในการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก โอลิมปิกเกมส์และการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีป การจัดลำดับโปรแกรมการแข่งขันควรจัดตามลำดับรุ่นเท่าที่จะทำได้ โดยให้แต่ละรอบเริ่มจากรุ่นเบาที่สุดก่อนแล้วเรียงลำดับไปจนถึงรุ่นหนักที่สุด และในรอบต่อไปให้เริ่มจากรุ่นเบาที่สุดก่อนเป็นเช่นนี้เรื่อยไปทุกรอบในการจัดโปรแกรมการแข่งขันประจำวัน อนุญาตให้จัดตามที่เจ้าภาพต้องการได้ โดยจะต้องไม่ให้ขัดแย้งกับที่ได้จับสลากไว้แล้ว
กติกาข้อ 8 " จำนวนยก " ( ROUNDS )
ก. การแข่งขันระดับโลก โอลิมปิก และการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีปและการแข่งขันอื่น ๆ ในการแข่งขันระดับโลก โอลิมปิก หรือการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีปหรือการแข่งขันอื่น ๆ ให้มีการแข่งขัน 4 ยก ยกละ 2 นาที ( กติกาข้อนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ) การหยุดการแข่งขันเพื่อตำหนิโทษ เตือน จัดเครื่องแต่งกาย หรืออุปกรณ์ของนักมวยให้เรียบร้อยหรือด้วยเหตุอื่น ๆ ไม่นับรวมใน 2 นาที ดังกล่าว การพักระหว่างยกต้องให้ได้ 1 นาทีเต็ม ไม่อนุญาตให้มีการเพิ่มจำนวนยก
ข. การแข่งขันระหว่างประเทศ ในการแข่งขันระหว่างประเทศโดยปกติจำนวนยกจะเหมือนกับที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ถ้าได้มีการตกลงกันไว้ก่อน อาจทำการแข่งขัน 3 ยก หรือ 4 ยก ยกละ 3 นาที หรือ 6 ยก ยกละ 2 นาที ก็ได้ การพักระหว่างยกใช้เวลา 1 นาที เสมอไป
กติกาข้อ 9 " พี่เลี้ยง " ( THE SECOND )
ก. กติกา ( Rules )
ผู้แข่งขันแต่ละคนให้มีพี่เลี้ยง 2 คน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกติกาดังต่อไปนี้
1. เฉพาะพี่เลี้ยง 2 คน เท่านั้นที่ขึ้นไปบนสังเวียนได้ และให้เข้าไปภายในเชือกได้เพียง 1 คน
2. ในระหว่างการชก พี่เลี้ยงจะไปอยู่บนขอบสังเวียนไม่ได้ ก่อนเริ่มการแข่งขันแต่ละยกพี่เลี้ยงจะยกเก้าอี้นักมวย ผ้าเช็ดตัว ถังน้ำ ฯลฯ ออกไปให้พ้นจากขอบสังเวียน
3. พี่เลี้ยงขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่มุมจะต้องมีผ้าเช็ดตัวและฟองน้ำสำหรับนักมวยของเขาพี่เลี้ยงอาจยอมแพ้แทนผู้แข่งขันได้ เมื่อเห็นว่านักมวยของเขาชกต่อไปไม่ไหว โดยการโยนฟองน้ำหรือผ้าเช็ดตัวเข้าไปในสังเวียน เว้นแต่ผู้ชี้ขาดกำลังนับ
4. ประธานคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน ของแต่ละการแข่งขันจะจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน และพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่ในการแข่งขันและเน้นให้ทราบว่าจะปฏิบัติตามกติกาของ A.I.B.A อย่างเคร่งครัด และนักมวยคนใดที่ไม่ปฏิบัติตามกติกานี้อาจไม่เพียงถูกตัดคะแนนเท่านั้น แต่อาจถูกตัดสินให้แพ้ด้วย
5. ห้ามพี่เลี้ยงแนะนำ ช่วยเหลือหรือส่งเสริมนักมวยของเขาในขณะที่กำลังทำการแข่งขัน ถ้าพี่เลี้ยงละเมิดกติกาอาจถูกตำหนิโทษ หรือให้ออกจากหน้าที่ นักมวยของเขาอาจถูกผู้ชี้ขาดเตือนตำหนิโทษหรือให้ออกจากการแข่งขันอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของพี่เลี้ยงก็ได้พี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่ที่ยุยงส่งเสริมด้วยวาจาหรือกิริยาใด ๆ ให้คนดูแนะนำหรือสนับสนุนนักมวยในระหว่างที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่จะต้องถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่พี่เลี้ยงหรือเจ้าหน้าที่ต่อไปในการแข่งขันคราวนั้น ถ้าพี่เลี้ยงถูกผู้ชี้ขาดให้ออกจากหน้าที่เขาจะต้องไม่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอีกต่อไปในการแข่งขันช่วงนั้น เมื่อผู้ชี้ขาดสั่งให้ออกจากหน้าที่ดังกล่าวเขาจะต้องออกไปให้พ้นสนามแข่งขันตลอดเวลาของการแข่งขันที่เหลืออยู่ในช่วงนั้น ในช่วงของการแข่งขันตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ถ้าพี่เลี้ยงถูกให้ออกจากหน้าที่เป็นครั้งที่ 2 เขาจะถูกห้ามทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอย่างถาวรตลอดการแข่งขัน
กติกาข้อ 10 " ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสิน " ( REFEREES AND JUDGES )
ก. การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศ ( Championships ) ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก การแข่งขันชิงถ้วยโลกและการแข่งขันแบบท้าชิงของ A.I.B.A การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีปและการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศระดับนานาชาติอื่น ๆ ให้ผู้ชี้ขาดที่ A.I.B.A รับรองทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันในสังเวียนแต่ไม่ต้องให้คะแนน
ข. ผู้ตัดสิน ( Judges ) ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะต้องมีผู้ตัดสิน A.I.B.A 5 คน ให้คะแนนโดยต้องนั่งแยกห่างออกจากประชาชนและชิดสังเวียน ผู้ตัดสิน 2 คน ต้องนั่งด้านเดียวกันของสังเวียนและนั่งห่างกันพอสมควร ส่วนผู้ตัดสินอีก 3 คน ให้แต่ละคนนั่งตรงกลางแต่ละด้านของสังเวียนที่เหลืออีก 3 ด้าน ถ้าผู้ตัดสินมีไม่เพียงพอ อาจใช้ผู้ตัดสิน 3 คนแทน 5 คนได้ แต่จะใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก หรือการแข่งขันที่ชนะเลิศของทวีปไม่ได้
ในจำนวน 1 ชุด ของผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในการแข่งขันนักมวยหญิงอาจประกอบด้วยผู้ตัดสินทั้ง ชายและหญิงก็ได้
ค. การแข่งขันระหว่างประเทศ ( International Matches ) ในการแข่งขันระหว่างประเทศที่มีทีมจากสมาคมแห่งชาติเข้าแข่งขัน 2 ชาติ หรือมากกว่า ผู้แทนแต่ละชาติอาจตกลงกันกำหนด ระเบียบปลีกย่อยขึ้นเพื่อให้การแข่งขันโดยแต่ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ละเมิดหลักการเบื้องต้นที่ A.I.B.A ได้วางไว้
ง. การปฏิบัติเพื่อความเป็นกลาง ( Neutrality ) เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการแข่งขันแต่ละครั้งคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินจะเป็นผู้เลือก ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินทั้ง 5 คน โดยวิธีการดังนี้
1. ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินเหล่านั้นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งผ่านการรับรองแล้ว
2. ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินเหล่านั้นต้องไม่เป็นชาติและสมาคมเดียวกันและต้องไม่เป็นชาติและสมาคมเดียวกันกับนักมวยที่เข้าแข่งขันด้วย
3. ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินเหล่านั้นจะต้องมิใช่ผู้มีสัญชาติหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่เป็นประเทศราช อาณานิคม หรือเมืองขึ้นของนักมวยที่เข้าแข่งขัน
4. ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินคนใดที่เปลี่ยนที่อยู่จะต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ในคู่แข่งขันที่มีนักมวยคนใดคนหนึ่งเป็นคนของประเทศชาติเดิมของตนหรือมีผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินของประเทศนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว
5. ไม่อนุญาตให้ผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินมาจากทวีปเดียวกันทำหน้าที่ร่วมกันในการแข่งขันแต่ละครั้งเกินกว่า 2 คน
6. การกำหนดตัวผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินในการแข่งขันทุกรายการจะกระทำโดยการจับสลากโดยคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน ณ สังเวียน ก่อนการแข่งขัน
7. ในกรณีที่คณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน ไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดข้างบนได้ก็อาจเลือกผู้ที่เห็นว่ามีความเป็นกลางและยุติธรรมที่สุดเข้าทำหน้าที่และจะต้องรายงานให้คณะกรรมการบริหารทราบโดยด่วน
8. ในกรณีที่ คณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน เห็นว่าไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดข้างบนได้ ให้ประธานคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นผู้จับสลากรายชื่อผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินให้ปฏิบัติหน้าที่ในคู่แข่งขันที่มีปัญหานั้น
จ. ความคัดแย้งกันทางด้านผลประโยชน์ ( Conflict of Interest ) ผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินในการแข่งขันจะต้องไม่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีม ผู้ฝึกสอน พี่เลี้ยง ให้แก่นักมวยหรือทีมของนักมวยที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนั้น หรือปฏิบัติหน้าที่ในคู่แข่งขันมีสัญชาติเดียวกับตนเอง
ฉ. การปฏิบัติทางวินัย ( Disciplinary Action ) คณะกรรมการบริหาร หรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจอาจจำหน่ายผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินออกจากบัญชี ( เป็นการชั่วคราวหรือถาวร ) เมื่อคณะลูกขุนให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชี้ขาดคนใดว่าไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกติกาของ A.I.B.A หรือเห็นว่าการให้คะแนนของผู้ตัดสินคนใดไม่เป็นที่พอใจ
ช. การจัดผู้ชี้ขาดเข้าทำหน้าที่แทน ( Replacing The Referee During The Bout ) ถ้าผู้ชี้ขาดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ในคู่แข่งขันที่กำลังดำเนินอยู่ ผู้รักษาเวลาต้องตีระฆังเพื่อหยุดการแข่งขันและให้ผู้ชี้ขาดที่เป็นกลางคนต่อไปตามบัญชีที่จัดไว้ขึ้นทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันและดำเนินการแข่งขันต่อไป
ซ. เครื่องมือในการให้คะแนน ( Machanical Scoring Devices ) ในการแข่งขันเพื่อชนะเลิศของโลก โอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันแบบท้าชิงของ A.I.B.A และการแข่งขันนานาชาติให้ใช้เครื่องมือให้คะแนนด้วยไฟฟ้า
ฌ. ข้อผูกพัน ( Obligation of Attendance ) ผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินของสมาคมใดที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการบริหารฯ แล้วสมาคมฯ นั้นต้องส่งผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก โอลิมปิกเกมส์ หรือการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่เขารับเลือกมา เว้นแต่บุคคลนั้นจะปฏิเสธการเชิญเป็นการส่วนตัว ด้วยเหตุผลที่เพียงพอ ถ้าหากมีองค์กรใดรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่ทีมนักกีฬาโอลิมปิกหรือการแข่งขันที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันองค์กรนั้นจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าเดินทางและค่าที่พักให้แก่ ผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน ที่ได้รับเลือกไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันนั้นด้วย
กติกาข้อ 11"คุณสมบัติในการเข้าเป็นและดำรงตำแหน่งในบัญชีของผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินนานาชาติ"(QUALIFYING FOR ADMISSION TO AND MAINTENANCE OF THE INTERNATIONAL LIST OF REFEREES AND JUDGES )
ก. ผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินนานาชาติ และผู้ตัดสินนานาชาติ ( International Referee / Judges and International Judges ) ตำแหน่งผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินนานาชาติ หรือผู้ตัดสินนานาชาติเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุดสำหรับผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินของกีฬามวยสากลสมัครเล่น ผู้ที่ได้รับการบรรจุให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในบัญชีนานาชาติจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงของการได้เป็นผู้ชี้ขาด และ / หรือ ผู้ตัดสินนานาชาติและตราของ A.I.B.A ตามตำแหน่งที่ได้รับพร้อมบัตรประจำตัว
ข. ผู้สมัครเพื่อขอเข้าบัญชีผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินนานาชาติ ( Candidate for Admission to the International List of A.I.B.A Referees and Judges )
1. จะต้องถูกเสนอโดยสมาคมแห่งประเทศของผู้สมัครและได้รับการรับรองจากสหพันธ์ของทวีปของผู้สมัคร
2. เขาจะต้องมีชื่อในบัญชีของสหพันธ์ของทวีปมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี และประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินเป็นอย่างดี
3. จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่รับรองตรวจสุขภาพครบทุกรายการตามที่คณะกรรมการสหพันธ์ของ A.I.B.A กำหนดและลงนามโดยแพทย์ของสมาคมมวยแห่งประเทศเพื่อรับรองว่าเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชี้ขาด และ / หรือผู้ตัดสิน ข้อห้ามต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินระบุอยู่ในคู่มือแพทย์
4. ในแต่ละสมาคมฯ จะมีชื่อขึ้นบัญชีเกิน 12 คนไม่ได้ ( ถ้าหากมีความจำเป็น สมาคมฯ ต้องถอนชื่อบุคคลในบัญชีออกเพื่อรักษาจำนวนไม่ให้เกินกว่าที่กติกากำหนดไว้ )
5. จะต้องมีหลักฐานแสดงประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งการได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งใดในช่วงก่อน 2 ปีที่ผ่านมา
6. มีความสามารถในการพูดเป็นอย่างดีในภาษาที่เป็นทางการของ A.I.B.A หนึ่งภาษา
ค. การดำรงตำแหน่งในบัญชีนานาชาติ ( Maintenance of the International List ) เพื่อรักษาไว้และปรับปรุงคุณภาพของการชี้ขาดและการตัดสิน เพื่อความแน่นอนในการตีความของกติกาสำหรับการแข่งขันระหว่างประเทศและเพื่อคัดเลือกผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินใหม่เข้าในบัญชีนานาชาติ คณะกรรมาธิการ ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินจะจัดการอบรมและทดสอบในลักษณะดังต่อไปนี้
1. สมาคมแห่งประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศอาจร้องขอไปยังสำนักงาน A.I.B.A ให้จัดอบรมหรือทดสอบเจ้าหน้าที่ ณ ที่ใด ๆ ในโลกได้ ทั้งนี้ ต้องผ่านการเห็นชอบจากสหพันธ์ของทวีปที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
2. การดำเนินการหรือทดสอบให้ดำเนินการโดยบุคคล 2 คน ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนานาชาติ A.I.B.A และเป็นกรรมการของคณะกรรมการบริหารฯ หรือคณะกรรมาธิการ ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินหรือสหพันธ์แห่งทวีปซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการบริหารฯแล้ว และถ้าเป็นไปได้ผู้แทนของสมาคมแห่งประเทศที่เกี่ยวข้องแต่ละประเทศต้องช่วยเหลือในการจัดอบรมและทดสอบด้วย ในการทดสอบแต่ละครั้งจะต้องมีผู้แทนอย่างน้อย 1 คน จากคณะกรรมการบริหาร ฯ เป็นกรรมการทดสอบ
คณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน แนะนำว่าในการทดสอบทุกครั้ง ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารซึ่งหนึ่งคนต้องเป็นกรรมการของคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน ผู้ทำการทดสอบทั้งสองคนนี้ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนานาชาติด้วย
ก. การทดสอบเพื่อเข้าบัญชีนานาชาติของ A.I.B.A และบัญชีของทวีปจะต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่จากทวีปที่เกี่ยวข้องเท่านั้น หากมีการยกเว้นประธานของ A.I.B.A อาจมอบให้กรรมการของคณะกรรมการบริหาร ฯ จากทวีปอื่นมาทำการทดสอบได้ ผู้สมัครต้องสอบข้อเขียน สัมภาษณ์ และภาคปฏิบัติให้ผ่านเสียก่อน จึงจะได้รับการบรรจุเข้าบัญชีนานาชาติ
ข. เอกสารการทดสอบและผลการทดสอบต่าง ๆ จะต้องเก็บรักษาไว้ที่สหพันธ์ของทวีปที่เกี่ยวข้อง
1. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักและการเดินทางของกรรมการทั้ง 2 คน ที่มาทำการทดสอบจะต้องจ่ายโดยสมาคมหนึ่ง หรือหลายสมาคมฯ ที่จัดการอบรมและทดสอบนั้น
2. คณะกรรมาธิการ ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสิน จะต้องเสนอ ผลการอบรม หรือทดสอบ ไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร A.I.B.A ครั้งต่อไปเพื่อพิจารณาอนุมัติ คำตัดสินของคณะกรรมการบริหารฯ จะถูกแจ้งไปยังสมาคมฯ และสหพันธ์ของทวีป ที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบต่อไป
3. อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก ๆ 4 ปี คณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด และผู้ตัดสินจะทำการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินนานาชาติที่อยู่ในบัญชีนานาชาติ ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินที่ไม่สามารถสอบผ่านข้อทดสอบที่จัดขึ้น ทุก 4 ปี ดังกล่าว จะต้องทำการทดสอบใหม่ให้ผ่านจากผู้ทดสอบที่มีคุณสมบัติถูกต้อง จึงจะได้รับการคืนสภาพเป็นผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินของ A.I.B.A
4. ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสิน ที่ขาดคุณสมบัติที่ระบุไว้ตามตำแหน่งผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินนานาชาติ จะถูกตัดชื่อออกจากบัญชีนานาชาติ
5. ผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสินนานาชาติที่มีอายุถึง 60 ปี ต้องรับการตรวจประจำปีว่าเป็นผู้มีร่างกายและประสาทที่สมบูรณ์
6. ผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน A.I.B.A แบ่งเป็น 3 เกรด คือ เอ , บี และซี การแบ่งเกรด จะกระทำโดย คณะกรรมการบริหารฯ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสิน ซึ่งได้หารือกับสมาคมแห่งชาติและสหพันธ์ของทวีปแล้ว
7. สมาคมแห่งชาติทุกสมาคมฯ ต้องส่งรายชื่อของผู้ที่จะสอบคุณสมบัติ ผู้ทำการทดสอบ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆไปให้ประธานของ A.I.B.A และประธานคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสิน ข้อมูลเหล่านี้ จะส่งถึงสำนักงาน A.I.B.A อย่างน้อย 8 สัปดาห์ ก่อนวันทำการทดสอบ
ฉ. กรรมวิธีในการอบรมและทดสอบ ( Procedure ) คณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสิน ร่วมกับเลขาธิการสหพันธ์ฯ ดำเนินการตามกรรมวิธีในการอบรม หรือทดสอบดังต่อไปนี้
1. ถ้าสมาคมฯ หนึ่งหรือหลายสมาคมประสงค์จะส่งผู้สมัครสอบ สมาคมฯ นั้นจะได้รับแบบฟอร์มสำหรับผู้สมัครกรอกข้อความแล้วส่งให้แก่กรรมการ ที่มาทดสอบ
2. ระหว่างที่มีการแข่งขันระดับนานาชาติทุกครั้งที่ A.I.B.A ให้การรับรองประเทศเจ้าภาพจะต้องจัดให้มีการอบรมและทดสอบผู้สมัครสอบเป็นผู้ชี้ขาด/ผู้ตัดสินนานาชาติ ในระหว่างที่กำลังดำเนินการ อบรมหรือทดสอบผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสินนานาชาติ ที่ถูกทดสอบคุณสมบัติ หรือผู้สมัครเข้าในบัญชีนานาชาติ ต้องปฏิบัติหน้าที่ผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินไม่น้อยกว่า 5 คู่ ที่ทำการแข่งขันโดยสมบูรณ์ กรรมการที่มาทำการทดสอบจากคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสิน หรือจากคณะกรรมการบริหารฯ จากสหพันธ์ของทวีปจะต้องให้คะแนนในคู่แข่งขันเหล่านี้เพื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครสอบ
3. กรรมการที่มาทดสอบจะทำการสอบสัมภาษณ์ด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินที่ถูกสอบคุณสมบัติยังคงจำกติกาได้ และผู้สมัครสอบเข้าบัญชีนานาชาติได้ศึกษา และเข้าใจกติกาของ A.I.B.A และคำแนะนำที่เกี่ยวกับการชี้ขาด และการตัดสินที่ A.I.B.A ออกไว้และยังปฏิบัติตามอยู่
4. กรรมการที่มาให้การอบรม หรือทดสอบจะต้องตัดสินว่า ผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติตามตำแหน่งผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสินนานาชาติ กรรมการที่ทดสอบจะต้องเขียนรายงานพร้อมลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน กรรมการแต่ละคนมีสิทธิ์จะรายงานความคิดเห็นส่วนตัวได้ รายงานจะต้องส่งไปยังคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด/ ผู้ตัดสิน
จ. ผู้ชี้ขาดและ/หรือผู้ตัดสินกิตติมศักดิ์ ( Honorary Referee and / or Judges ) คณะกรรมการบริหารฯ อาจจะให้เกียรติตลอดชีพแก่เจ้าหน้าที่นานาชาติ ผู้ซึ่งได้เกษียณอายุไปแล้ว และเป็นบุคคลที่แสดงความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่งโดยมอบตำแหน่ง " ผู้ชี้ขาด / หรือผู้ตัดสินกิตติมศักดิ์ของมวยสากลสมัครเล่น " ให้เป็นเกียรติ
ฉ. กติกาข้อ 11. นี้ สามารถนำไปใช้เพื่อขึ้นทะเบียนในบัญชีผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินหญิงในระดับนานาชาติและระดับทวีปได้ด้วยเช่นกัน
กติกาข้อ 12 " คณะลูกขุน " ( THE JURY )
ก. การแต่งตั้ง ( Appointment ) ในระหว่างการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลกและโอลิมปิกเกมส์ คณะกรรมการบริหารฯ จะปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะลูกขุน สำหรับการแข่งขันเพื่อชนะเลิศของทวีป คณะกรรมการบริหารของสมาคมของทวีป ให้สหพันธ์ของทวีปที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แต่งตั้งคณะลูกขุน ในการแข่งขันแต่ละช่วง ( ยกเว้นรอบชิงชนะเลิศ ) คณะลูกขุนต้องมีไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 5 คน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ประธานลูกขุนด้วย คณะลูกขุน 2 คน ต้องเป็นกรรมการของคณะกรรมการผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสิน ในระหว่างการแข่งขันไม่ให้ผู้ที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะลูกขุนไปนั่งที่ของคณะลูกขุน การจัดคณะลูกขุนให้หมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละช่วงของการแข่งขันจะต้องกระทำให้เรียบร้อยก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้นโดยประธานของ A.I.B.A หรือในกรณีที่ประธานไม่อยู่ให้ตัวแทนเป็นผู้กำหนดลูกขุนคนใดประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่จะต้องได้รับคำยินยอมเสียก่อนจากประธานฯ หรือตัวแทนเป็นผู้ให้คำยินยอมให้กรรมการของคณะกรรมการบริหารฯ ทุกคนปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะลูกขุนในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ กรรมการของคณะกรรมการบริหารฯ ที่มีชื่อในบัญชีผู้ชี้ขาดนานาชาติร่วมกับกรรมการของคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินประกอบกันเข้าเป็นคณะกรรมการลูกขุน ที่มีสิทธิในการโหวตเสียง
ข. หน้าที่ของคณะลูกขุน ( Duties )
1. กรรมการของคณะลูกขุนแต่ละคนต้องให้คะแนนการแข่งขันแต่ละคู่ และคะแนนเหล่านี้จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ตัดสินในคู่นั้น
2. กรรมการลูกขุนจะต้องตรวจสอบบัตรให้คะแนนของผู้ตัดสินทั้ง 5 คน เพื่อให้แน่ใจว่า
2.1 การรวมคะแนนเป็นไปอย่างถูกต้อง
2.2 ชื่อของนักมวยเป็นไปอย่างถูกต้อง
2.3 ระบุตัวผู้ชนะถูกต้อง
ง. ได้ลงลายมือชื่อในบัตรให้คะแนนแล้ว และต้องตรวจสอบคำตัดสินจากบัตรให้คะแนน หรือจากเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือ จากเครื่องบันทึกคะแนน ประธานคณะลูกขุนหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่คณะลูกขุนจะต้องแจ้งชื่อนักมวยที่เป็นผู้ชนะตามเสียงข้างมากของบัตรให้คะแนน 5 ฉบับให้โฆษกเพื่อประกาศให้ผู้ชมทราบต่อไป
3. คณะลูกขุนปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละช่วงจะต้องพบกันในเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินในวันที่ผ่านมา
4. คณะลูกขุนต้องรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการบริหารของ A.I.B.A ทราบในกรณีที่ผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินคนใดไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกติกาของ A.I.B.A และผู้ตัดสินคนใดให้คะแนนการแข่งขันไม่เป็นที่พอใจ
5. คณะลูกขุนต้องเสนอเอกสารต่อคณะกรรมการบริหารของ A.I.B.A หรือคณะกรรมการบริหารของสมาคมแห่งทวีปหรือในกรณีไม่มีสมาคมแห่งทวีปให้ยื่นต่อคณะกรรมการของภาคที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อไปยังกรรมาธิการผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินตามที่เห็นสมควร
6. คณะลูกขุนต้องแจ้งคณะกรรมการบริหารฯ ว่าผู้ชี้ขาดหรือผู้ตัดสินนานาชาติที่ได้รับแต่งตั้งจากสมาคมของเขาและได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ หรือ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก หรือ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีป ไม่ไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่แจ้งให้เลขาธิการฯ ทราบล่วงหน้าถึงการไม่มาของเขาและด้วยเหตุผลอันสมควร
7. ถ้าเจ้าหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งแล้วไม่มา คณะลูกขุนอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการรับรองแล้วขึ้นแทน แล้วรายงานการเปลี่ยนแปลงให้คณะกรรมการบริหารฯ หรือสหพันธ์ของทวีปที่เกี่ยวข้องทราบโดยด่วนที่สุด
8. ในกรณีที่สถานการณ์ขัดข้องต่อการดำเนินการแข่งขันจนผู้ชี้ขาดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องจากเหตุการณ์นั้น คณะลูกขุนอาจสั่งให้หยุดการแข่งขันจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนเป็นปกติ
9. คณะลูกขุนหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่คณะลูกขุนอาจปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยฉับพลันเมื่อพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการแข่งขันทุกระยะ
10. ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่คณะลูกขุนจะต้องปรึกษาคณะกรรมาธิการผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ ก็ตามที่จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป
11. กมวยที่เจตนากระทำความผิดอย่างร้ายแรงอันขัดต่อความผู้มีน้ำใจนักกีฬา คณะลูกขุนมีอำนาจที่จะเสนอความผิดของเขาครั้งนั้นต่อคณะกรรมการบริหารฯเพื่อประกาศให้นักมวยคนนั้นหมดสิทธิ์ในการแข่งขันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และคณะกรรมการบริหารฯ อาจตัดสิทธิไม่ให้เขาได้รับเหรียญรางวัล ซึ่งเขามีสิทธิ์จะได้รับจากการแข่งขันครั้งนั้น
12. คณะลูกขุนต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ในคู่มวยที่มีนักมวยจากประเทศของเขาแข่งขัน
ค. การใช้อำนาจเหนือผู้ชี้ขาด และ/หรือผู้ตัดสิน ( Overruling the Referee and/or Judges ) คำตัดสินของผู้ชี้ขาด และ/หรือผู้ตัดสินอาจถูกคณะลูกขุนลบล้างได้ในกรณีต่อไปนี้
1. เมื่อผู้ชี้ขาดให้คำตัดสินค้านกับบทบัญญัติและกติกาของ A.I.B.A อย่างชัดเจน ( ในการพิจารณาดังกล่าวคณะลูกขุนอาจใช้ วีดีโอเทปช่วยได้ )
2. เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ตัดสินมากกว่า 1 คน ทำผิดพลาดในบัตรให้คะแนนอันมีผลทำให้คำตัดสินผิดไป
ง. การประท้วง ( Protests ) การประท้วงให้จัดการทำโดยผู้จัดการทีมในเวลาไม่เกิน 30 นาที หลังจากการแข่งขันนั้นสิ้นสุดลง การประท้วงต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อประธานคณะลูกขุนพร้อมวางเงินประท้วง 100 เหรียญสหรัฐ
จ. ความขัดแย้งกันทางด้านผลประโยชน์ ( Conflict of interest ) คณะกรรมการลูกขุนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก การแข่งขันเพื่อชิงถ้วยโลก การแข่งขันแบบท้าชิงของ A.I.B.A และการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีป จะต้องไม่ทำหน้าที่ผู้ชี้ขาดและผู้ตัดสินในการแข่งขันดังกล่าวนั้น
ฉ. การปฏิบัติเพื่อความเป็นกลาง ( Neutrality ) คณะกรรมการลูกขุนในการแข่งขันระดับนานาชาติจะต้องมาจากประเทศที่แตกต่างกัน
กติกาข้อ 13 " ผู้ชี้ขาด " ( THE REFEREE )
ก. ความรับผิดชอบลำดับแรก ( Primary Concern ) การระมัดระวังดูแลเอาใจใส่นักมวยเป็นหน้าที่สำคัญลำดับแรกของผู้ชี้ขาด
ข. หน้าที่ของผู้ชี้ขาด ( Duties ) ผู้ชี้ขาดที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสังเวียนเขาจะต้องแต่งกายด้วยกางเกงขายาวสีขาว เสื้อเชิ้ตสีขาว และรองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อชนิดเบาที่ไม่มีส้น ผูกหูกระต่าย ( สีดำ ) แต่ถ้าอากาศอบอ้าวอาจไม่ต้องผูกหูกระต่ายก็ได้ ถ้าประธานคณะลูกขุน หรือประธานคณะกรรมการผู้ชี้ขาด / ผู้ตัดสินให้ความเห็นชอบ ผู้ชี้ขาดอาจสวมถุงมือผ่าตัดขณะปฏิบัติหน้าที่ได้
ผู้ชี้ขาดต้อง
1. รักษากติกาและความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด
2. ควบคุมการแข่งขันทุกระยะโดยตลอด
3. ป้องกันนักมวยที่อ่อนแอกว่าไม่ให้ได้รับความบอบซ้ำเกินควรโดยไม่จำเป็น
4. ตรวจนวมและเครื่องแต่งกายของนักมวย
5. ผู้ชี้ขาดต้องใช้คำสั่ง 3 คำคือ
ก. " STOP " เมื่อสั่งให้นักมวยหยุดชก
ข. " BOX " เมื่อสั่งให้นักมวยชก
ค. " BREAK " เมื่อให้นักมวยแยกจากการกอดรัด คำสั่งนี้นักมวยทั้งสองจะต้องถอยหลังออกมาก่อน 1 ก้าว แล้วจึงชกต่อไป
6. ผู้ชี้ขาดต้องแสดงสัญญาณหรือท่าทางที่เหมาะสมให้นักมวยที่ละเมิดกติกาทราบถึงความผิดของเขา
7. เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันต้องรวบรวมบัตรให้คะแนนของผู้ตัดสินทั้ง 5 คน และตรวจสอบ แล้วจึงส่งให้ประธานลูกขุนหรือถ้าไม่มีคณะลูกขุนส่งให้โฆษก
8. ผู้ชี้ขาดจะต้องไม่ชี้ตัวผู้ชนะโดยชูมือนักมวยหรือด้วยประการใด ๆ จนกว่าจะได้มีการประกาศแล้ว เมื่อผู้ชนะถูกประกาศชื่อ ผู้ชี้ขาดต้องชูมือนักมวยผู้ชนะขึ้น
9. เมื่อผู้ชี้ขาดปรับนักมวยเป็นแพ้หรือยุติการชก เขาต้องแจ้งประธานคณะลูกขุนก่อนว่าได้ปรับนักมวยคนใดแพ้ หรือเหตุผลที่ให้ยุติการชก เพื่อประธานฯ จะได้แจ้งให้โฆษกประกาศให้ประชาชนทราบอย่างถูกต้อง
ค. อำนาจของผู้ชี้ขาด ( Power of the Referee ) ผู้ชี้ขาดมีอำนาจ
1. ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่า นักมวยฝ่ายหนึ่งชกอยู่ข้างเดียว
2. ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่า นักมวยบาดเจ็บจนไม่สามารถจะชกต่อไปได้
3. ยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่า นักมวยไม่แข่งขันกันโดยจริงจังในกรณีเช่นนี้อาจให้นักมวยคนใดหรือทั้งสองออกจากการแข่งขันได้
4. เตือนนักมวยหรือหยุดการชกเพื่อตำหนิโทษนักมวยที่กระทำฟาล์ว หรือด้วยเหตุอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อความแน่นอนในการปฏิบัติไปตามกติกา
5. ให้นักมวยที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยฉับพลันหรือทำร้ายหรือก้าวร้าวผู้ชี้ขาดออกจากการแข่งขัน
6. ให้พี่เลี้ยงที่ละเมิดกติกาออกจากหน้าที่ และให้นักมวยออกจากการแข่งขัน ถ้าพี่เลี้ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้ชี้ขาด
7. ให้ผู้แข่งขันที่กระทำฟาล์วออกจากการแข่งขันโดยได้ตำหนิโทษ หรือยังไม่ได้ตำหนิโทษผู้แข่งขันนั้นมาก่อนก็ตาม
8. หยุดนับในการล้ม ถ้านักมวยเจตนาไม่ไป หรือทำชักช้าที่ไปยังมุมกลาง
9. ตีความในกติกาที่ใช้บังคับตามข้อเท็จจริงหรือตัดสินและปฏิบัติการใด ๆ ในข้อที่ไม่มีกติกาบัญญัติไว้
ง. การตำหนิโทษ ( Warnings ) ถ้านักมวยละเมิดกติกา แต่ความผิดนั้นไม่ถึงขั้นให้ออกจากการแข่งขัน ผู้ชี้ขาดต้องหยุดการชกและตำหนิโทษผู้ละเมิดกติกานั้น ในการตำหนิโทษ ผู้ชี้ขาดต้องสั่งให้นักมวยหยุดชกเสียก่อน การตำหนิโทษต้องกระทำอย่างชัดแจ้ง เพื่อให้นักมวยเข้าใจเหตุและความมุ่งหมายของการตำหนิโทษนั้นผู้ชี้ขาดจะต้องให้สัญญาณมือแก่ผู้ตัดสินทุกคนว่า
จ. การเตือน ( Coutions ) ผู้ชี้ขาดอาจเตือนนักมวยได้ การเตือนเป็นการแนะนำหรือให้นักมวยระมัดระวังหรือป้องกันไม่ให้นักมวยกระทำในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่เป็นการละเมิดกติกาที่ไม่รุ่นแรงนัก ในการเตือนนี้ไม่จำเป็นต้องหยุดการชก แต่อาจหาโอกาสที่เหมาะสมเตือนนักมวยที่กระทำผิดกติกาในระหว่างการแข่งขันนั้นก็ได้
ฉ. การตรวจร่างกายผู้ชี้ขาด ( Medical Considerations ) ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันนานาชาติภายใต้กติกานี้ ผู้ชี้ขาดต้องได้รับการตรวจร่างกายว่า มีร่างกายสมบูรณ์พอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสังเวียนได้ ผู้ชี้ขาดต้องมีสายตาแต่ละข้างอย่างน้อย 6 ไดออพเตอร์ ห้ามผู้ชี้ขาดสวมแว่นตาในขณะปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขัน แต่อนุญาตให้ใช้เลนซ์ผนึก ( คอนแท็คเลนซ์ ) ได้ และก่อนการแข่งขันแต่ละครั้ง ผู้ชี้ขาดต้องเข้าร่วมประชุมที่คณะลูกขุนแพทย์จัดขึ้น
กติกาข้อ 14 " ผู้ตัดสิน " ( JUDGES )
ก. การแต่งกาย ( Attire ) ผู้ตัดสินต้องแต่งกายสีขาวในขณะปฏิบัติหน้าที่ และอาจสวมเสื้อ แจ็กเก็ตที่เหมาะสมทับอีกชั้นหนึ่งก็ได้ เมื่อได้รับอนุญาต
ข. หน้าที่ของผู้ตัดสิน ( Duties )
1. ผู้ตัดสินแต่ละคนต้องตัดสินการชกของคู่แข่งขันโดยอิสระและต้องตัดสินไปตามกติกาว่าผู้ใดเป็นผู้ชนะ
2. ผู้ตัดสินต้องไม่พูดกับผู้แข่งขัน กับผู้ตัดสินด้วยกัน และกับบุคคลอื่น ยกเว้นผู้ชี้ขาดในระหว่างที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่ แต่ถ้ามีความจำเป็นในตอนหยุดพักระหว่างยกเขาอาจแจ้งให้ผู้ชี้ขาดทราบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่นพี่เลี้ยงประพฤติผิดมารยาท เชือกหย่อน ฯลฯ ซึ่งผู้ชี้ขาดอาจไม่เห็นในขณะนั้น
3. ผู้ตัดสินต้องให้คะแนนแก่ผู้แข่งขันทั้งสองลงในบัตรบันทึกคะแนนทันทีที่สิ้นสุดการแข่งขันแต่ละยก ถ้าไม่ได้ใช้เครื่องมือในการบันทึกคะแนน
4. ถ้าไม่มีการให้คะแนนด้วยเครื่องมือบันทึกคะแนน เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ผู้ตัดสินต้องรวมคะแนนระบุตัวผู้ชนะและลงลายมือชื่อลงในบัตรบันทึกคะแนน คำตัดสินของผู้ตัดสินต้องประกาศให้ผู้ชมทราบ
5. ผู้ตัดสินต้องไม่ลุกจากที่นั่งให้คะแนนจนกว่าจะประกาศผลการตัดสินให้ผู้ชมทราบแล้ว
กติกาข้อ 15 " ผู้รักษาเวลา " ( THE TIMEKEEPER )
ก. หน้าที่ผู้รักษาเวลา ( Duties )
1. หน้าที่สำคัญของผู้รักษาเวลา คือรักษาจำนวนยก เวลาของยก และหยุดเวลาพักระหว่างยก เวลาพักระหว่างยกต้องครบ 1 นาทีเต็ม
2. ห้าวินาทีก่อนเริ่มการแข่งขันแต่ละยก ผู้รักษาเวลาต้องให้สังเวียนว่าง โดยใช้คำสั่งว่า " ออกนอกสังเวียน หรือพี่เลี้ยงออก "
3. ผู้รักษาเวลาต้องให้สัญญาณเริ่มยกและหมดยกด้วยการตีฆ้องหรือระฆัง
4. ผู้รักษาเวลาต้องประกาศว่า เป็นยกที่เท่าใด โดยเร็วก่อนให้สัญญาณเริ่มยก
5. ผู้รักษาเวลาต้องหักเวลาออกสำหรับการหยุดชั่วคราวหรือเมื่อผู้ชี้ขาดสั่งให้หยุดเวลา
6. ผู้รักษาเวลาต้องรักษาเวลาทุกระยะตลอดจนการนับให้ถูกต้องด้วยนาฬิกาหรือนาฬิกาตั้ง
7. เมื่อนักมวย " ล้ม " ผู้รักษาเวลาต้องให้สัญญาณที่เป็นเสียงแก่ผู้ชี้ขาดตามวินาทีที่ผ่านไปขณะที่ผู้ชี้ขาดกำลังนับ
8. ตอนปลายยก ถ้านักมวยล้ม และผู้ชี้ขาดกำลังนับ เมื่อเวลาได้เดินไปหมดยกแล้ว ต้องไม่ตีระฆังและให้ตีระฆังเมื่อผู้ชี้ขาดให้คำสั่งว่า " Box " อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวไม่นำไปใช้กับยกสุดท้ายในรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก การแข่งขันชิงถ้วยโลก การแข่งขันแบบท้าชิงของ A.I.B.A การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีป และการแข่งขันระดับนานาชาติ
ข. ที่นั่งของผู้รักษาเวลา ( Position ) เมื่อผู้รักษาเวลาต้องนั่งอยู่ที่ข้างสังเวียน
กติกาข้อ 16 " การตัดสิน " ( DECISIONS )
ก. ชนิดของการตัดสิน ( Types ) มีดังนี้
1. ชนะโดยคะแนน ( Win by points ) เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน นักมวยที่ได้รับการตัดสินโดยเสียงข้างมากของผู้ตัดสินเป็นผู้ชนะถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บหรือถูกนับสิบพร้อมกันและไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ผู้ตัดสินต้องรวมคะแนนที่นักมวยแต่ละคนได้ไว้จนถึงเวลาที่การชกได้หยุดลง นักมวยที่ได้คะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ
2. ชนะโดยถอนตัว ( Win by Retirement ) ถ้านักมวยถอนตัวออกจากการแข่งขันด้วยความสมัครใจ อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บหรือเหตุอื่นหรือไม่อาจแข่งขันต่อไปได้ทันทีภายหลังจากการหยุดพักระหว่างยก ให้คู่แข่งขันของเขาเป็นผู้ชนะ
3. ชนะโดยผู้ชี้ขาดสั่งยุติการแข่งขัน ( Win by Referee stopping contest )
ก. ฝีมือด้อยกว่ากันมาก ( Outclassed ) คำว่า R.S.C. เป็นคำที่ใช้สำหรับยุติการแข่งขันเมื่อนักมวยคนหนึ่งฝีมือด้วยกว่ามาก หรือร่างกายมีสภาพไม่สมบูรณ์พอที่จะแข่งขันต่อไปได้ ถ้าผู้ชี้ขาดเห็นว่านักมวยคนหนึ่งฝีมือด้วยกว่ามากหรือถูกชกมากเกินไปต้องยุติการชกและให้คู่แข่งขันเป็นผู้ชนะ
ข. บาดเจ็บ ( Injury )
1. ถ้าผู้ชี้ขาดเห็นว่านักมวยคนหนึ่งมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พอที่จะแข่งขันต่อไปได้ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการชกอย่างถูกต้องหรือด้วยเหตุทางร่างกายอื่น ๆ ต้องยุติการชกและให้คู่แข่งขันเป็นผู้ชนะ การตัดสินให้เป็นไปตามที่กล่าวนี้เป็นสิทธิของผู้ชี้ขาดที่อาจจะหารือแพทย์ก็ได้ เมื่อได้หารือแพทย์แล้วผู้ชี้ขาดต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ขอเสนอแนะว่าผู้ชี้ขาดจะต้องตรวจนักมวยอีกคนหนึ่งว่าได้รับบาดเจ็บด้วยหรือไม่ ก่อนที่จะทำการชี้ขาดแพทย์สนามมีสิทธิในการขอให้ยุติการชก ถ้าคิดว่ามีเหตุผลทางการแพทย์เพียงพอที่จะไม่อนุญาตให้การแข่งขันดำเนินต่อไป สิ่งแรกที่แพทย์สนามต้องทำคือ แจ้งให้ประธานคณะลูกขุนทราบและแจ้งให้ผู้ชี้ขาดยุติการชกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ตรวจสภาพร่างกายของนักมวยว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที ( เจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ หมายถึง ประธานคณะลูกขุนของแพทย์ หรือแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในคู่แข่งขันนั้น )
2. ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของ A.I.B.A หรือ โอลิมปิก การแข่งขันระดับนานาชาติ หรือการแข่งขันแบบครั้งเดียว หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นหลังจากยกที่ 1 ผ่านไปแล้ว ผู้ตัดสินต้องรวมคะแนนที่นักมวยทำได้จนถึงเวลาที่เกิดการบาดเจ็บนั้น นักมวยที่ได้คะแนนรวมมากกว่าเป็นผู้ชนะ หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในยกที่ 1 ของการแข่งขัน นักมวยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บจะเป็นผู้ชนะ ในการแข่งขันแบบครั้งเดียว ถ้าเกิดการบาดเจ็บขึ้นในยกที่ 1 ผลการแข่งขันอาจให้เสมอกันได้
3. เมื่อผู้ชี้ขาดเรียกแพทย์ขึ้นมาตรวจนักมวย จะมีเฉพาะแพทย์และผู้ชี้ขาดเท่านั้นที่อยู่บนสังเวียน ห้ามพี่เลี้ยงเข้ามาในสังเวียนหรือขึ้นมาบนขอบสังเวียน
4. เมื่อคะแนนของนักมวยจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ต่างกันถึง 20 คะแนน ประธานคณะลูกขุนภายหลังที่ได้หารือกับคณะลูกขุนเห็นว่าควรยุติการแข่งขันเพื่อป้องกันนักมวยฝ่ายหนึ่งไม่ให้ถูกชกมากเกินไป ประธานคณะลูกขุนสามารถยุติการชกโดยตีระฆังหรือวีธีการอื่นใดแล้วแจ้งผู้ชี้ขาดให้ทราบ ผลการแข่งขันให้นักมวยชนะโดย R.S.C. Over Score Card ( กรณีนักมวยเยาวชน คะแนนของนักมวยจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ต่างกันถึง 15 คะแนน ให้ผลการแข่งขันให้นักมวยชนะโดย R.S.C. Over Score Card )
4. ชนะโดยให้ออกจากการแข่งขัน ( Win by Disqualification ) ถ้านักมวยถูกสั่งให้ออกจากการแข่งขัน คู่ แข่งขันของเขาจะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้านักมวยทั้ง 2 ฝ่ายถูกสั่งให้ออกจากการแข่งขันต้องประกาศการตัดสินไปตามนั้น นักมวยที่ถูกสั่งให้ออกจากการแข่งขันจะไม่ได้รับรางวัล เหรียญรางวัล ถ้วยรางวัล รางวัลเกียรติยศ หรืออันดับในการแข่งขันครั้งนั้น หากจะมีการยกเว้น ให้คณะกรรมการบริหาร ( หรือถ้าคณะกรรมการบริหารฯ ไม่อยู่ให้คณะลูกขุนหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกขุน และถ้าไม่มีคณะลูกขุนให้ผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินการแข่งขันในคู่นั้น ) เป็นผู้ตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ แต่ถ้าการตัดสินนั้นมิได้กระทำโดยคณะกรรมการบริหารฯ ก็ให้มีการทบทวนและยืนยันการตัดสินโดยคณะกรรมการบริหารฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อได้รับรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น หากจำเป็น
5. ชนะโดยน๊อคเอ้าท์ ( Win by Knock - out ) ถ้านักมวย " ล้ม " และไม่สามารถชกต่อไปได้ภายใน 10 วินาที ให้คู่แข่งขันเป็นผู้ชนะโดยน๊อคเอ้าท์
6. ชนะโดย RSC - H ( Win by RSC - H ) ถ้านักมวยฝ่ายหนึ่งมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พอที่จะแข่งขันต่อไปได้เนื่องจากถูกชกที่ศีรษะอย่างแรงหลายหมัดให้นักมวยอีกฝ่ายหนึ่งชนะโดย RSC - H
7. ไม่มีการแข่งขัน ( No Contest ) ผู้ชี้ขาดอาจสั่งให้ยุติการแข่งขันเมื่อเกิดเหตุการณ์นอกเหนือความรับผิดชอบของนักมวยหรือการควบคุมของผู้ชี้ขาด เช่นสังเวียนชำรุด ไฟฟ้าเสีย สภาวะอากาศผิดปกติ ฯลฯ ในกรณีดังกล่าวจะต้องประกาศว่า " ไม่มีการแข่งขัน " และในกรณีที่เป็นการแข่งขันเพื่อความ ชนะเลิศ คณะลูกขุนจะต้องตัดสินใจว่าให้ทำอย่างไรต่อไป
8. ชนะโดยได้ผ่าน ( Win by Walk - Over ) นักมวยคนหนึ่งปรากฏตัวในสังเวียนด้วยชุดแข่งขันเรียบร้อยแล้ว แต่คู่แข่งขันไม่มาปรากฏตัวหลังจากได้ประกาศชื่อนักมวยผู้นั้นแล้ว ให้ตีระฆังและเวลาได้ผ่านไปครบ 3 นาทีแล้ว ผู้ชี้ขาดให้นักมวยมาปรากฏตัวเป็นผู้ชนะผ่าน ผู้ชี้ขาดจะต้องแจ้งแก่ผู้ตัดสินทุกคนให้บันทึกผลลงในบัตรลงคะแนน และเรียกนักมวยมาที่กลางสังเวียน ชูมือนักมวยขึ้นหลังจากประกาศคำตัดสินแล้ว
9. เสมอกัน ( Draw ) เฉพาะการแข่งขันแบบแข่งครั้งเดียว ในการแข่งขันระหว่างสองสโมสรหรือสองประเทศเพื่อมิตรภาพ อาจตกลงให้มีการเสมอกันได้เมื่อคะแนนเสียงข้างมากของผู้ตัดสินให้เสมอกันนอกจากนี้ถ้าเกิดบาดเจ็บขึ้นในยกที่ 1 อาจตัดสินให้เสมอกันได้ เช่นกัน
11. กรณีเกิดเหตุการณ์ในสังเวียนที่นอกเหนือจากการควบคุมของผู้ชี้ขาด
ก. ถ้ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น จนไม่สามารถทำให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้ภายใน 1 นาที แรกยกที่ 1 หรือยกที่ 2 ( เช่น ไฟฟ้าบกพร่อง ) ต้องยุติการแข่งขัน และนักมวยคู่นั้นจะต้องชกใหม่ เป็นคู่สุดท้ายของโปรแกรมการแข่งขันในวันนั้น
ข. ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นในยกที่ 3 การแข่งขันจะต้องยุติและให้ผู้ตัดสินบันทึกผลการให้คะแนน ให้เรียบร้อย และตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้ชนะ
ค. ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วง 3 คู่ สุดท้ายของโปรแกรมการแข่งขัน ให้ยกคู่มวยที่เหลือทั้ง 3 ไป ทำการแข่งขันเป็นคู่แรกของโปรแกรม การแข่งขันช่วงถัดไป
นักมวยเหล่านั้นจะต้องไปทำการตรวจร่างกายและชั่งน้ำหนักในวันที่จะทำการแข่งขันใหม่ด้วย
กติกาข้อ 17 " การให้คะแนน " ( AWARDING OF POINTS )
ก. หลักเกณฑ์การให้คะแนน ( Dircectives ) การให้คะแนนต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. เกี่ยวกับการชก ( Concerning Hits ) ก. การชกที่ได้คะแนน ( Scoring Hits ) ผู้ตัดสินต้องคิดคะแนนให้แก่นักมวยแต่ละคนตามจำนวนของการชก การชกที่ถือว่าได้คะแนนต้องชกด้วยสันนวมตรงไปถูกตรงด้านหน้าหรือด้านข้างของศีรษะหรือลำตัวเหนือแนวเข็มขัดโดยปราศจากการป้องกันจากคู่แข่งขัน การใช้หมัดเหวี่ยงถูกที่บริเวณดังกล่าวข้างต้นถือว่าได้คะแนน คะแนนการชกในการเข้าคลุกวงในกันนั้นต้องให้แก่นักมวยที่ชกแลกหมัดได้ดีกว่าเมื่อสิ้นสุดการชกวงในกันนั้น ข. การชกที่ไม่ได้คะแนน ( Non - Scoring Hits ) การชกของนักมวยที่ไม่ได้คะแนนมีดังนี้ 1. ชกในขณะที่ละเมิดกติกาข้อใดข้อหนึ่ง หรือ 2. ชกด้วยข้างนวม สันนวม ด้านในของนวม หรือแบนวม หรือชกด้วยส่วนอื่นของนวมที่ไม่ใช่สันนวมที่กำอยู่ หรือ 3. ชกถูกแขนคู่แข่งขัน หรือ 4. เพียงแต่ชกถูกแต่ไม่มีน้ำหนักส่งจากร่างกายหรือไหล่ 2. เกี่ยวกับการฟาล์ว (Concerning Fouls ) ก. กรณีผู้ชี้ขาดตำหนิโทษ ( Referee Warning ) ถ้าผู้ชี้ขาดตำหนิโทษนักมวยคนหนึ่ง ผู้ตัดสินอาจให้คะแนนนักมวยอีกคนหนึ่งได้ เมื่อผู้ตัดสินจะให้คะแนนแก่นักมวยที่คู่แข่งขันของเขา กระทำฟาล์วซึ่งผู้ชี้ขาดตำหนิโทษ ผู้ตัดสินต้องใส่ " W " ในช่องที่แบ่งไว้ทางด้านนักมวยที่ถูกตำหนิโทษ เพื่อแสดงว่าเขาได้กระทำเช่นนั้น ถ้าผู้ตัดสินไม่ให้คะแนนดังกล่าวต้องใส่ " X " ในช่องที่แบ่งไว้ สำหรับยกนั้นทางด้านนักมวยที่ถูกตำหนิโทษ พร้อมทั้งให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการตำหนิโทษของผู้ชี้ขาด ข. กรณีอื่น ๆ ( Others ) ในระหว่างการชกแต่ละยก ผู้ตัดสินจะต้องประเมินดูความรุนแรงของการฟาล์วและตัดคะแนนในการกระทำฟาล์วไปตามความเหมาะสม แม้ผู้ชี้ขาดจะเห็นหรือไม่ก็ตาม ถ้าผู้ตัดสินเห็นการฟาล์วอย่างชัดแจ้ง โดยผู้ชี้ขาดไม่ได้สังเกตเห็น และผู้ตัดสินจะตัดคะแนนนักมวยที่กระทำผิดนั้น ผู้ตัดสินจะต้องแสดงให้เห็นว่านักมวยได้กระทำเช่นนั้น โดยใส่ " J " ลงไปในช่องที่แบ่งไว้ทางด้านนักมวยที่กระทำผิดพร้อมทั้งระบุไว้ด้วยว่าทำผิดด้วยเหตุใด 3. เกี่ยวกับการให้คะแนน ( Concerning the Awarding of points ) ก. เมื่อสิ้นสุดแต่ละยก ( End of Each Round ) แต่ละยกมี 20 คะแนน ไม่มีการให้คะแนนเป็นเศษส่วน เมื่อสิ้นสุดแต่ละยก นักมวยที่ดีกว่า(มีทักษะมากกว่า) จะได้ 20 คะแนน และคู่แข่งขัน จะได้คะแนนลดลงไปตามส่วน ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายชกได้ดีเท่ากัน ให้คะแนนคนละ 20 คะแนน ข. เกณฑ์การให้คะแนน ( Points determination ) การคิดคะแนนให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้คือ 1 คะแนน สำหรับหมัดที่ชกถูกต้อง 3 หมัด 1 คะแนน สำหรับการตำหนิโทษ โดยผู้ชี้ขาด และผู้ตัดสิน ถ้าจำนวนหมัดที่ชกได้ต่างไปจาก 3 , 6, 9, 12. ฯลฯ ให้ถือตารางต่อไปนี้เป็นเกณฑ์การคิดคะแนน จำนวนหมัด 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14………. คะแนนที่ได้ 0 1 1 1 2 2 2 3 3 3 4 4 4 5……….. ค. เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน ( End of Tournament Contest ) เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงถ้าได้ให้คะแนนแต่ละยกตามเกณฑ์ข้อ 1 และ 2 แล้ว ผู้ตัดสินพบว่าคะแนนของนักมวยทั้งสองฝ่ายเท่ากัน จะต้องพิจารณาตัดสินผลการแข่งขันให้แก่นักมวยที่ 1. เป็นฝ่ายรุกมากที่สุด หรือมีแบบการชกที่ดีกว่า ถ้าพิจารณาตามลำดับดังกล่าวแล้วยังเท่ากันอีก ให้พิจารณา 2. เป็นผู้ป้องกันดีกว่า ( การปิดป้อง การหลบ การฉาก ฯลฯ ) จนคู่แข่งขันทำอะไรไม่ได้ 3. ในการแข่งขันจะต้องมีการประกาศผู้ชนะในการแข่งขันแบบแข่งครั้งเดียว อาจประกาศผลเป็นเสมอกันได้ ง. การชกคู่แข่งขันล้ม ( Knock - Downs ) ไม่มีคะแนนพิเศษสำหรับการชกให้คู่แข่งขันล้ม 4. การใช้เครื่องให้คะแนนด้วยไฟฟ้า ( Use of Electronic scoring Machine ) 1. ถ้ามีการใช้เครื่องให้คะแนนด้วยไฟฟ้า จะต้องให้คะแนนดังนี้ ก. ในการใช้เครื่องให้คะแนนด้วยไฟฟ้านี้ คะแนนในการตัดสินจะเป็นคะแนนที่ได้จากหมัดที่ชกถูกต้อง และข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ตัดสินแต่ละคนบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยการกดปุ่มบันทึกข้อมูลของแต่ละคน ข. หมัดที่ชกถูกต้องและข้อมูลอื่น ๆ ที่ถูกบันทึกไว้จะถูกคำนวณออกมาเป็นผลขั้นสุดท้ายโดยอัตโนมัติ โดยคิดเฉพาะหมัดที่ผู้ตัดสินอย่างน้อย 3 ใน 5 คน บันทึกลงในเครื่องพร้อม ๆ กัน เป็นหลักในการตัดสินผลการแข่งขัน ค. ในการใช้เครื่องไฟฟ้าให้คะแนนนักมวยที่ถูกตำหนิโทษจะถูกตัด 2 คะแนน ( มีค่าเท่ากับ 2 หมัด ) ง. ผู้ชนะโดยคะแนนจะถูกตัดสินจากผลรวมทั้งหมดของจำนวนหมัดที่ถูกต้องในการชกทุกยก จำนวนหมัดจะไม่ถูกแปลงเป็นคะแนน ผู้ที่มีจำนวนหมัด ที่ชกได้ถูกต้องมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ จ. นอกเหนือจากผลขั้นสุดท้ายที่ได้จากคะแนนร่วมของผู้ตัดสินแล้ว ( จำนวนหมัดทั้งหมด ที่ถูกบันทึกไว้พร้อมกันโดยผู้ตัดสินอย่างน้อย 3 คน ) คะแนนส่วนตัวของผู้ตัดสิน 5 คน จะถูกเก็บไว้ ถ้าการชกสิ้นสุดลง นักมวยทั้งสองฝ่ายมีจำนวนหมัดที่ได้จากคะแนนร่วมของผู้ตัดสินเท่ากัน จะต้องนำคะแนนส่วนตัวของผู้ตัดสินมาตัดสินโดยตัดคะแนนของผู้ตัดสินที่ให้ไว้สูงสุดและต่ำสุดออก นักมวยที่มีจำนวนหมัดสูงจากคะแนนส่วนตัวของผู้ตัดสินที่เหลืออยู่จะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้ายังเท่ากันอีกผู้ตัดสินทั้ง 5 คน จะต้องตัดสินโดยใช้กติกาข้อ 17.3 ค. โดยกดปุ่มบันทึกของแต่ละคน 2. ในกรณีที่ใช้เครื่องให้คะแนนด้วยไฟฟ้า จะไม่มีการเก็บใบให้คะแนน ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาใช้ในการตัดสินจะถูกบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์และเมื่อสิ้นสุดการแข่งขันผลการแข่งขันจะถูกพิมพ์ออกมาโดยอัตโนมัติ 3. ถ้าเครื่องให้คะแนนขัดข้องจะต้องปฏิบัติตามกรรมวิธี ดังนี้ ก. ประธานคณะลูกขุนจะยุติการแข่งขัน 1 นาที ถ้าระหว่างการยุติการแข่งขันนั้นยังไม่สามารถซ่อมเครื่องให้ใช้การได้ ให้ทำการแข่งขันต่อไป และให้คณะลูกขุน 5 คน เป็นผู้ให้คะแนนเพื่อตัดสินการแข่งขัน ตามกติกาข้อ 12 ( คณะลูกขุน ) ข. 1 ข. ถ้าไม่สามารถซ่อมเครื่องให้คะแนนได้ คณะลูกขุนสามารถตัดสินใจให้นำกติกาข้อ 17.1,2 และ 3 มาใช้ในการตัดสินสำหรับมวยคู่ต่อไป 4. ในการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของ A.I.B.A. และโอลิมปิกเกมส์ เครื่องให้คะแนนด้วยไฟฟ้าต้อง ถูกควบคุมโดยบุคคลที่ A.I.B.A. คัดเลือกมา
กติกาข้อ 18 " ฟาล์ว " ( FOULS )
ก. การเตือน การตำหนิโทษ การให้ออกจากการแข่งขัน ( Cautions , Warning , Disqualification ) ผู้แข่งขันที่ไม่เชื่อฟังคำแนะนำของผู้ชี้ขาด ปฏิบัติฝ่าฝืนกติกา ชกอย่างไม่ใช่วิสัยนักกีฬา หรือกระทำฟาล์ว ผู้ชี้ขาดสามารถเตือน ตำหนิโทษ หรือสั่งให้ออกจากการแข่งขันโดยมิต้องตำหนิโทษก็ได้ ผู้ชี้ขาดอาจเตือนนักมวยในโอกาศที่เหมาะสมโดยไม่ต้องหยุดการแข่งขันก็ได้ ในกรณีที่ผู้ชี้ขาดต้องการตำหนิโทษนักมวยผู้ชี้ขาดต้องหยุดการแข่งขันและสาธิตความผิดนั้น แล้วชี้ตัวนักมวยและชี้ไปที่ผู้ตัดสินแต่ละคนจนครบ 5 คน ผู้ชี้ขาดที่ได้ตำหนิโทษนักมวย ที่กระทำฟาล์วอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้งหนึ่งแล้ว เช่น ฟาล์วจากการจับรั้ง จะเตือนนักมวยที่กระทำผิด ในลักษณะเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ การเตือนสำหรับการฟาล์วในครั้งที่ 3 จะต้องตำหนิโทษนักมวย ในการแข่งขันครั้งหนึ่ง ๆ ให้ตำหนิโทษนักมวยคนหนึ่งได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น การตำหนิโทษครั้งที่ 3 จะต้องให้นักมวยที่ถูกตำหนิโทษนั้นออกจากการแข่งขันโดยอัตโนมัติ
ข. ชนิดของการฟาล์ว ( Type of Fouls) ต่อไปนี้เป็นการฟาล์ว
1. ชกใต้เข็มขัด กอด ขัดขา เตะ ถีบด้วยเท้าหรือตีเข่า
2. ชกหรือกระแทกด้วยศีรษะ ไหล่ ปลายแขน ศอก ค้ำคอผู้แข่งขัน กอดด้วยแขน หรือศอกที่ใบหน้าคู่แข่งขัน กดศีรษะ ผู้แข่งขันหงายหลังข้ามเชือก
3. ชกแบนวม ชกด้วยด้านในของนวม ข้อมือ หรือข้างมือ
4. ชกถูกด้านหลังคู่แข่งขัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชกถูกด้านหลังของคอ ท้ายทอย และบริเวณไต
5. ชกหมัดกลับ
6. ชกขณะที่จับเชือก หรือใช้เชือกโดยไม่เป็นธรรม
7. ยืนทับ ปล้ำ และเหวี่ยงในระยะประชิต
8. ชกคู่แข่งขันที่ล้มอยู่ หรือกำลังลุกขึ้น
9. จับรั้ง
10. จับชกหรือดึงชก
11. จับหรือหนีบแขน หรือศีรษะคู่แข่งขัน หรือดันแขนเข้าไป ใต้แขนคู่แข่งขัน
12. หลบต่ำกว่าระดับเข็มขัด ของคู่แข่งขัน ในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อคู่แข่งขัน
13. ใช้แขนทั้งสองยกขึ้นปิดป้อง อย่างเดียวตลอดเวลาโดยไม่มีการชกตอบ และเจตนาล้ม หรือหันหลังให้เพื่อไม่ให้ชกถูก
14. แสดงกิริยาก้าวร้าว หรือกระทำความโมโหในระหว่างแข่งขัน
15. ไม่ถอยหลังเมื่อถูกสั่งให้แยก
16. พยายามชกคู่แข่งขันทันทีโดยยังไม่ทันถอยหลัง เมื่อผู้ชี้ขาดสั่ง " BREAK "
17. ทำร้ายหรือแสดงอาการใด ๆ ที่เป็นการก้าวร้าวผู้ชี้ขาด
18. บ้วนสนับฟันยางทิ้ง
19. เหยียดแขนตรงไปข้างหน้า เพื่อบังสายตาคู่แข่งขัน
ค. พี่เลี้ยง ( Seconds ) นักมวยแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อพี่เลี้ยงของตนในทำนองเดียวกันกับตนเอง
ง. ผู้ชี้ขาดปรึกษาผู้ตัดสิน (Referee Consults Judges ) ถ้าผู้ชี้ขาดมีความเชื่อว่าได้มีการฟาล์วเกิดขึ้น ซึ่งเขามองไม่เห็น เขาอาจปรึกษาผู้ตัดสินได้
กติกาข้อ 19 " ล้ม " ( DOWN)
ก. คำจำกัดความ ( Definition ) นักมวยถือว่า " ล้ม " ก็ต่อเมื่อ
1. ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายนอกจากเท้าถูกพื้นอันเป็นผลจากการถูกชกด้วยหมัดใดหมัดหนึ่งหรือหมัดชุด หรือ
2. ถ้ายืนแขวนอยู่บนเชือกในลักษณะที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้อันเป็นผลจากการชกด้วยหมัดใดหมัดหนึ่งหรือหมัดชุด หรือ
3. ถ้าร่างกายออกไปนอกเชือกทั่งตัวหรือบางส่วนอันเป็นผลจากการชกด้วยหมัดใดหมัดหนึ่ง หรือหมัดชุด หรือ
4. ถ้าถูกชกอย่างหนักแล้วยังไม่ล้มลงและไม่ยืนทับอยู่บนเชือกแต่มีสภาพหมดสติ และผู้ชี้ขาดเห็นว่าไม่สามารถชกต่อไปได้
ข. การนับ ( The Count ) ในกรณีที่มีการล้ม ผู้ชี้ขาดต้องนับทันที และเมื่อนักมวยคนหนึ่งล้มผู้ชี้ขาดต้องนับดัง ๆ จากหนึ่งถึงสิบโดยเว้นระยะนับ 1 วินาที และต้องแสดงสัญญาณมือแต่ละวินาที เพื่อให้นักมวยที่ล้มทราบการนับ ก่อนที่จะเริ่มนับหนึ่งต้องเว้นระยะเวลาที่นักมวยได้ล้มลงถึงพื้นแล้ว 1 วินาที จึงจะนับหนึ่งได้ ถ้าคู่แข่งขันไม่ไปที่มุมกลางตามคำสั่งของผู้ชี้ขาด ผู้ชี้ขาดต้องหยุดนับจนกว่าคู่แข่งขันจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว จึงนับต่อไปจากที่ได้หยุดนับไว้ ผู้ตัดสินต้องใส่อักษร " KD " ลงไปในบัตรให้คะแนนแก่นักมวยคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนที่ผู้ชี้ขาดนับ ถ้าหากนักมวย " ล้ม " เพราะถูกชกที่ศีรษะ ผู้ตัดสินต้องใส่อักษร " KDH " ลงในบัตรให้คะแนนด้วย
ค. ความรับผิดชอบของคู่แข่งขัน ( Opponent's Responsibilities ) ถ้านักมวยคนหนึ่งล้ม คู่แข่งขันต้องไปที่มุมกลางทันทีตามคำสั่งของผู้ชี้ขาด เขาจะแข่งขันกับนักมวยที่ล้มต่อไปได้เมื่อผู้ที่ล้มได้ลุกขึ้นแล้วและผู้ชี้ขาดสั่ง " BOX " ( ชก ) เท่านั้น
ง. การนับถึงแปด ( Mandatory Eight Count ) เมื่อนักมวยคนหนึ่งล้ม อันเนื่องมาจากการถูกชก การแข่งขันจะดำเนินการต่อไปไม่ได้จนกว่าผู้ชี้ขาดจะได้นับถึงแปดเสียก่อน แม้ว่านักมวยที่ล้มนั้นพร้อมที่จะแข่งขันได้ก่อนนับถึงแปดก็ตาม
จ. การน็อคเอ้าท์ ( The Knock - Out ) เมื่อผู้ชี้ขาดได้นับถึงสิบและกล่าวคำว่า " OUT " แล้ว การแข่งขันเป็นอันสิ้นสุดและจะต้องตัดสินว่า " น็อคเอ้าท์ "
ฉ. นักมวยล้มในขณะสิ้นสุดยก ( Boxer Down at End of Round ) กรณีนักมวยล้มอยู่ขณะที่เวลาได้สิ้นสุดลงในยกที่ไม่ใช่ยกสุดท้ายของรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของโลก การแข่งขันชิงถ้วยโลก การแข่งขันแบบท้าชิงของ A.I.B.A. การแข่งขันเพื่อความชนะเลิศของทวีป หรือการแข่งขันระดับนานาชาติ ผู้ชี้ขาดต้องนับต่อไป ถ้าผู้ชี้ขาดนับถึงสิบ นักมวยที่ล้มจะแพ้น็อคเอ้าท์ แต่ถ้านักมวยที่ล้มนั้นสามารถที่จะทำการแข่งขันต่อไปได้ก่อนที่จะนับถึงสิบ ผู้ชี้ขาดต้องสั่ง "BOX" ( ชก ) ทันที
ช. นักมวยล้มลงอีกเป็นครั้งที่สองโดยไม่ถูกชก ( Second Time Boxer Down Without a Fresh Blow ) ถ้านักมวยคนหนึ่งล้มอันเนื่องมาจากการถูกชก ผู้ชี้ขาดได้นับถึงแปดแล้ว และสั่งให้แข่งขันต่อไปแต่นักมวยผู้นั้นกลับล้มลงไปอีกโดยมิได้ถูกชก ผู้ชี้ขาดต้องนับต่อไปจากแปด
ซ. นักมวยล้มทั้งสองฝ่าย ( Both Boxers Down ) ถ้านักมวยทั่งสองฝ่ายล้มลงในเวลาเดียวกันจะต้องทำการนับเรื่อยไปตราบเท่าที่ยังมีนักมวยคนใดล้มลงอยู่ ถ้านักมวยทั้งสองฝ่ายยังล้มลงอยู่จนนับถึงสิบให้ยุติการแข่งขัน และการตัดสินให้เป็นไปตามคะแนนที่ได้ให้ไว้จนถึงเวลาที่ล้มนั้น
ฌ. นักมวยไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ( Boxer Fails to Resume ) นักมวยที่ไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ทันทีภายหลังจากการหยุดพักระหว่างยก
กติกาข้อที่ 1 " สังเวียน "


ในการแข่งขันทั่ว ๆ ไป สังเวียนต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่อไปนี้
  1. ขนาด สังเวียนต้องเย็บมุมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดเลิก ด้านละ 20 ฟุต (6.10 เมตร) และขนาดใหญ่ ด้านละ 24 ฟุต (7.30 เมตร) ซึ่งวัดภายในของเชือก
  2. พื้นและมุม พื้นสังเวียนต้องสร้างให้ปลอดภัย และได้ระดับปราศจากสิ่งกีดขวางใด ๆ และต้องยื่นออกไปนอกเชือก อย่างน้อย 90 ซม. (36 นิ้ว) พื้นสังเวียนต้องอยู่สูงจากพื้นอาคารไม่ต่ำกว่า 4 ฟุต และสูงไม่เกิน 5 ฟุต ตั้งเสาขนาด 4-5 นิ้ว สูงขึ้นไปจากพื้นเวที 58 นิ้ว มุมทั้งสี่ต้องหุ้มนวมให้เรียบร้อยหรือจะทำอย่างใดที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่นักมวย
  3. การปูพื้นสังเวียน พื้นสังเวียนต้องปูด้วย ยาง ผ้าอย่างอ่อน เสื่อฟางอัด ไม้ก๊อกอัดหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม หนาไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว และไม่หนากว่า 1? นิ้ว และปูทับด้วยผ้าใบให้ตึงและมิดชิดคลุมพื้นสังเวียนทั้งหมด
  4. เชือก ต้องมีเชือก 4 เส้น มีความหนาอย่างน้อย 3 ซม. (1.18 นิ้ว) อย่างมาก 5 ซม. (1.97 นิ้ว) ขึงตึงกับเสามุมทั้งสี่ของสังเวียน สูงจากฟื้นสังเวียนขึ้นไปถึง ด้านบนของเชือก 45 ซม. (18 นิ้ว) 75 ซม. (30 นิ้ว) 105 ซม. (42 นิ้ว) และ 135 ซม. (54 นิ้ว) ตามลำดับเชือกต้องหุ้มด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่มและเรียบ เชือกแต่ละด้านของสังเวียนต้องผูกยึดกันด้วยผ้าเหนียว 2 ชิ้น ซึ่งมีขนาดกว้าง 3 – 4 ซม. (1.2 – 1.6 นิ้ว) ให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน และผ้าที่ผูกนั้นต้อง ไม่เลื่อนไปตามเชือก
  5. บันได สังเวียนต้องมีบันได 3 บันได มีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 3 ? ฟุต สองบันไดต้องอยู่ที่มุมตรงข้ามสำหรับผู้เข้าแข่งขันและพี่เลี้ยง ส่วนอีกบันไดหนึ่ง ให้อยู่ที่มุม กว้าง สำหรับผู้ชี้ขาดและแพทย์
  6. กล่องพลาสติก ที่มุมกลางทั้งสองมุมนอกสังเวียน ให้ติดกล่องพลาสติกมุมละ 1 กล่อง เพื่อให้ผู้ชี้ขาดทิ้งสำลี หรือกระดาษที่ใช้ซับเลือก


กติกาข้อที่ 2 อุปกรณ์สังเวียน


อุปกรณ์ประจำสังเวียนจะต้องประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
  1. ที่นั่งพักนักมวย สำหรับนักมวยนั่งพักระหว่างยก 2 ที่
  2. ขวดน้ำขนาดเล็ก 2 ขวด สำหรับดื่ม และขวดน้ำชนิดพ่นฝอย 2 ขวด ไม่อนุญาตให้นักมวยหรือที่เลี้ยงใช้ขวดน้ำชนิดอื่น ๆ ในสังเวียน
  3. ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน
  4. น้ำ 2 ถัง
  5. โต๊ะและเก้าอี้สำหรับเจ้าหน้าที่
  6. ระฆัง
  7. นาฬิกาจับเวลาชนิดกดหยุดได้ 1 หรือ 2 เรือน
  8. ใบบันทึกคะแนน
  9. หีบใส่กุญแจสำหรับเก็บใบบันทึกคะแนน
  10. ป้ายบอก ยก – เวลา – คู่ 1 ชุด
  11. นวม 2 คู่
  12. กางเกงมวยสีแดง และสีน้ำเงิน อย่างละ 1 ตัว
  13. กระจับพร้อมเชือก 1 – 2 อัน
  14. ฉากบังตา 2 อัน (ใช้ในกรณีที่นักมวยกระจับหลุด)
  15. เปลหามคนเจ็บ 1 ชุด
  16. กรรไกรปลายมน 1 อัน


กติกาข้อที่ 3 " นวม "


นวมที่ใช้ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  1. นวมที่ใช้ในการแข่งขัน ผู้แข่งขันต้องใช้นวมที่ได้รับการรับรองจากสภามวยไทยโลก ซึ่งคณะกรรมการจัดการแข่งขันจัดไว้ให้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผู้แข่งขัน ใช้นวมของตัวเอง
  2. รายละเอียดของนวม นักมวยตั้งแต่รุ่นเล็กถึงรุ่นน้ำหนัก 122 ปอนด์ ใช้นวมขนาด 8 ออนซ์ ( กรัม) นักมวยรุ่นสูงกว่า 122 ปอนด์ ถึงรุ่นน้ำหนัก 147 ปอนด์ ใช้นวมขนาด 10 ออนซ์ (284 กรัม) ส่วนที่เป็นหนังต้องหนักไม่เกินครึ่งหนึ่งของน้ำหนักนวมทั้งขนาดและไส้นวมต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำหนัก นวมทั้งหมด ไส้นวมต้องไม่เปลี่ยนรูปหรือถูกบดขยี้ให้กระจายไปจากรูปเดิม ต้องผูกเชือกนวมให้ปมเชือกอยู่ด้านนอกหลังข้อมือของนวม ให้ใช้นามที่สะอาด และให้การได้เท่านั้น
  3. การตรวจผ้าพันมือและการสวมนวม ทั้งนวมและผ้าพันมือจะต้องเหมาะสม อยู่ภายใต้การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ตรวจนวม เจ้าหน้าที่จะต้องคอยดูแลเพื่อให้แน่ใจว่า นักมวยปฏิบัติถูกต้องตามกติกาทุกอย่าง จนกระทั่งนักมวยขึ้นสู่เวที


กติกาข้อที่ 4 " ผ้าพันมือ "


ให้ใช้ผ้าพันมืออย่างอ่อนยาวข้างละไม่เกิน 6 เมตร กว้างไม่เกิน 5 ซม. ผ้าพันมือชนิดอื่นใช้ไม่ได้ แถบกาวยางหรือพลาสเตอร์ทุกชนิด เป็นผ้าพันมือไม่ได้เด็ดขาด อาจใช้ พลาสเตอร์ยางไม่เกิน 2.5 เมตร กว่าง 2.5 ซม. ข้างละ 1 เส้น ปิดทับข้อมือหรือหลังมือห้ามพันทับสันหมัด

กติกาข้อที่ 5 " เครื่องแต่งกาย "


ก. การแต่งกายของผู้เข้าแข่งขัน
  1. ต้องสวมกางเกงขาสั้นเพียงครึ่งโคนขาให้เรียบร้อยไม่สวมเสื้อและรองเท้านักมวยมุมแดงให้กางเกงสีแดง ชมพู สีเลือดหมู หรือสีขาวที่มีแถบแดงคาด นักมวยมุมน้ำเงินใช้กางเกงสีน้ำเงิน และสีดำ ห้ามคาดแถบสีแดง และต้องสวมเสื้อคลุมตามข้อบังคับสภาพมวยไทยโลก
  2. ต้องสวมกระจับที่ทำขึ้นจากวัสดุแข็งแรงทนทาน และได้รับการรับรองจากสภามวยไทยโลกเมื่อถูกตีด้วยเข่าหรืออาวุธในการต่อสู้อย่างอื่นตรงบริเวณ อวัยวะเพศจะไม่ทำให้เกิดอันตราย การผูกกระจับต้องผูกปมไว้ด้านหลัง และต้องผูกด้วยเงื่อนตาย เก็บปลายเชือกส่วนที่เหลือให้เรียบร้อย
  3. ห้ามไว้ผมยาวรุงรัง และห้ามไว้เครา อนุญาตให้ไว้หนวดได้แต่ต้องยาวไม่เกินริมฝีหาก เล็บเท้า ต้องตัดให้เรียบและสั้น
  4. ต้องสวมมงคลผ้าประเจียด หรือรัดเกล้า เฉพาะเวลาร่ายรำไหว้ครู ก่อนทำการแข่งขันเท่านั้น เครื่องรางอนุญาตให้ผูกที่โคนแขน หรือเอว แต่ต้องหุ้มผ้าให้มิดชิดเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่คู่แข่งขัน
  5. อนุญาตให้ใช้ปลอกยืดรัดข้อเท้ากันเคล็ด สวมข้อเท้าได้ข้างละไม่เกิน 1 อัน แต่ห้ามมิให้เลื่อนปลอกรัดขึ้นไปเป็นสนับแข้งหรือม้วนพับลงมา และห้ามใช้ผ้ารัดขาและข้อเท้า
  6. ห้ามใช้เข็มขัดหรือสิ่งที่เป็นโลหะ สร้อย ฯลฯ
  7. ห้ามใช้น้ำมันวาสลิน น้ำมันร้อน ไขหรือสมุนไพร หรือสิ่งอื่นที่ทำให้คู่แข่งขันเสียเปรียบหรือเป็นที่น่ารังเกียจทาร่างกายหรือนวม
  8. ฟันยาง ผู้แข่งขันต้องใส่ฟันยาง
ข. การละเมิดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยที่แต่งกายไม่สะอาดถูกต้องออกจากการแข่งขัน ในกรณีที่นวมหรือเครื่องแต่งกายของนักมวยไม่เรียบร้อยขณะแข่งขัน ผู้ชี้ขาดจะหยุดการแข่งขันเพื่อจัดให้เรียบร้อย

กติกาข้อที่ 6 " การจำแนกรุ่นและการชั่งน้ำหนัก "


ก. การจำแนกรุ่น และน้ำหนักที่ใช้ในการแข่งขัน
  1. รุ่นมินิฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 104 ปอนด์ (47.727 กก.)
  2. รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 108 ปอนด์ (48.988 กก.)
  3. รุ่นฟลายเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 112 ปอนด์ (50.802 กก.)
  4. รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 115 ปอนด์ (52.163 กก.)
  5. รุ่นแบนตั้มเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 118 ปอนด์ (53.524 กก.)
  6. รุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 122 ปอนด์ (55.338 กก.)
  7. รุ่นเฟเธอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 126 ปอนด์ (57.153 กก.)
  8. รุ่นจูเนียร์ไลท์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 130 ปอนด์ (58.967 กก.)
  9. รุ่นไลท์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 135 ปอนด์ (61.235 กก.)
  10. รุ่นจูเนียร์เวลเตอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 140 ปอนด์ (63.503 กก.)
  11. รุ่นเวลเตอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 147 ปอนด์ (66.638 กก.)
  12. รุ่นจูเนียร์มิดเดิลเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 154 ปอนด์ (69.843 กก.)
  13. รุ่นมิดเดิลเวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 160 ปอนด์ (71.575 กก.)
  14. รุ่นไลท์เฮฟวี่เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 175 ปอนด์ (79.379 กก.)
  15. รุ่นครุยเซอร์เวท น้ำหนักอย่างมากไม่เกิน 190 ปอนด์ (86.183 กก.)
  16. รุ่นเฮฟวี่เวท น้ำหนักเกิน 190 ปอนด์ขึ้นไป (86.183 กก. ขึ้นไป)
ข. การชั่งน้ำหนัก

มวยสากล

กำเนิดมวยสากล

มวยสากลเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีมาแต่โบราณ โดยเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของทหารในสนามรบ และกลายเป้นเกมกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิคยุคโบราณ โดยที่นักมวยในยุคนั้นไม่มีการจำกัดน้ำหนัก ไม่สวมเครื่องป้องกันตัว และไม่จำกัดว่าต้องใช้ได้เพียงหมัด สามารถกัดหรือถองคู่ต่อสู้ได้ โดยไม่มีกติกามากนัก เพียงแต่นักมวยทั้งคู่ต้องถอดเสื้อผ้าให้หมดทั้งตัว เพื่อไม่ให้ซ่อนอาวุธเอาไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2236 เจมส์ ฟิกซ์ (James Figg) ผู้ชนะเลิศการต่อสู้ด้วยมิอเปล่าชาวอังกฤษได้กำหนดกฎกติกาในการชก จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น " บิดาแห่งมวยสากล " และต่อมาก็ได้มีผู้สร้างนวมขึ้นมา แต่ยังไม่มีการใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2432 จอห์น แอล ซัลลิแวน (John L. Sulrivan) ผู้ชนะเลิศการชิงแชมป์มวยด้วยมือเปล่า ประกาศว่าจะไม่ขอขึ้นชกด้วยมือเปล่าอีกต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นของการชกด้วยการสวมนวม และได้พัฒนาจนมาเป็นเกมกีฬาที่มีกติกาชัดเจนเช่นในปัจจุบัน

[แก้]มวยสากลในทวีปเอเชีย

กีฬามวยสากลแพร่หลายเข้าสู่เอเชียครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทางสหรัฐอเมริกา เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ทวีปเอเชียหลังจากสงครามสหรัฐอเมริกา-สเปนเมื่อ พ.ศ. 2441 ผลของสงคราม สเปนต้องยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐอเมริกา มวยสากลแพร่จากสหรัฐเข้าสู่ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะที่มะนิลา มีนักมวยจากฟิลิปปินส์ไปชกที่สหรัฐมากโดยเฉพาะที่ฮาวาย จากนั้นจึงแพร่หลายต่อไปยังญี่ปุ่นวงการมวยในเอเชียซบเซาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และฟื้นตัวอีกครั้งหลังสงคราม มวยสากลเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นหลังสงคราม การชกมวยสากลระดับนานาชาติครั้งแรกในญี่ปุ่นเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2467 ที่โตเกียวโดยเตอิโกะ โอกิโน ขึ้นชกกับยัง กอนซาเลซจากฟิลิปปินส์ ผลการชกปรากฏว่าเสมอกัน
ในประเทศญี่ปุ่นมีการตั้งสมาคมมวยแห่งญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2489 และเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2495 ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ก็มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นดูแลกีฬามวยสากลอย่างเป็นทางการส่วนในระดับภูมิภาค ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไทย ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นประเทศร่วมก่อตั้งสหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF)
บุคคลสำคัญในวงการมวยสากลเอเชียยุคเริ่มต้นได้แก่ ยูจิโร วาตานาเบ้ นักมวยที่ผันตัวเองเป็นโปรโมเตอร์ วาตานาเบ้ไปชกมวยในสหรัฐตั้งแต่ พ.ศ. 2453 กลับมาโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2464 และตั้งค่ายมวยขึ้น คนอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญคือ ซัม อิชิโนเซะ ชาวฮาวาย เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 มีพ่อแม่เป็นชาวญี่ปุ่น เขาเข้าสู่วงการมวยโดยเริ่มจากการเป็นเทรนเนอร์ ช่วงหลังสงครามโลกเขาได้เปลี่ยนมาเป็นโปรโมเตอร์และผู้จัดการ อีกคนคือโลเป ซาเรียล นายหน้าและผู้จัดการนักมวยชาวฟิลิปปินส์ที่มีส่วนสร้างนักมวยระดับแชมป์โลกหลายคน เช่น แฟลซ อีลอสเด้ โยชิโอะ ชิราอิ และแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์

[แก้]มวยสากลในประเทศไทย

มวยสากลหรือที่เรียกในยุคแรกว่า "มวยฝรั่ง" เข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกราว พ.ศ. 2455 โดยได้แบบอย่างจากประเทศอังกฤษ ผู้นำมาเผยแพร่คือหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ครั้งแรกนำมาเผยแพร่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และแพร่ต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ มีการจัดแข่งขันมวยนักเรียนซึ่งเป็นแบบมวยสากลสมัครเล่น
ต่อมา พระยาคฑาธรบดีสีหบาลเมือง เช่าพื้นที่ด้านศาลาแดงของสวนลุมพินีจัดให้มีการละเล่นต่างๆ เรียกว่าสวนสนุก มีการสั่งนักมวยสากลจากต่างชาติมาชกโชว์เรียกว่า "เต็ดโชว์" เมื่อเป็นที่นิยมจึงมีการคัดเลือกนักมวยสากลชาวไทยข้นชกกับนักมวยต่างชาติเหล่านั้นในแบบมวยสากลอาชีพ การชกระหว่างนักมวยสากลชาวไทยกับต่างชาติมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ในวันนั้น สุวรรณ นิวาศวัต นักมวยไทยชื่อดังขึ้นชกเป็นคู่แรก แพ้น็อค เทอรี่ โอคัมโป (ฟิลิปปินส์) ยก 4 ส่วนคู่ที่ 2 โม่ สัมบุณณานนท์ ชนะน็อค ยีซิล โคโรนา (ฟิลิปปินส์) ยก 4
จากนั้นกีฬามวยสากลเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีนักมวยสากลชาวไทยชกชนะสร้างชื่อเสียงอยู่เนืองๆ เช่น สมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นแชมป์มวยสากลของสิงคโปร์ ผล พระประแดงเป็นรองแชมป์โลกคนแรก จำเริญ ทรงกิตรัตน์ เป็นแชมป์ OPBF คนแรกและขึ้นชิงแชมป์โลกเป็นคนแรกด้วยแต่ไม่สำเร็จ แชมป์โลกชาวไทยคนแรกคือ โผน กิ่งเพชร ซึ่งได้ครองแชมป์เมื่อ พ.ศ. 2503 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ประเทศไทยมีแชมป์โลกทั้งสิ้น 37 คน ในจำนวนนี้มีนักมวยที่สร้างสถิติโลกและเอเชียมากมายเช่น